โรคในหน้าฝน

By: | Tags: | Comments: 0 | ตุลาคม 29th, 2018


 

 

Q : ตอนนี้ประเทศไทยเรากำลังเข้าสู่ฤดูฝน เพื่อนๆหลายคนก็อาจจะทำงานหนัก และขาดการพักผ่อน บางทีก็ตากฝน และอาจทำให้เราป่วย อยากทราบว่าโรคในหน้าฝน มีอะไรบ้างค่ะ

 

 

 

A :กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้ออกประกาศเตือนประชาชนในการป้องกันโรคติดต่อที่มักเกิดขึ้นในฤดูฝน โดยมี 5 กลุ่ม ได้แก่ 

1.กลุ่มโรคติดต่อของระบบทางเดินอาหารที่พบบ่อย ได้แก่ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน บิด ไทฟอยด์ อาหารเป็นพิษ

สาเหตุ เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนของเชื้อจุลชีพที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหาร เช่น ลำไส้ ได้แก่ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน บิด ไทฟอยด์ อาหารเป็นพิษ

อาการ ผู้ป่วยจะมีอาการท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นน้ำ อาจมีไข้ ปวดบิดในท้อง และหากติดเชื้อบิดอาจมีมูกหรือเลือดปนอุจจาระได้ นอกจากนี้ยังมีโรคตับอักเสบชนิดเอ ซึ่งสามารถติดต่อได้จากการรับประทานอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อน ผู้ที่มีอาการตับอักเสบจะมีไข้ อ่อนเพลีย มีอาการตัวเหลือง ตาเหลืองหรือดีซ่าน เบื่ออาหาร

การป้องกัน กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ

2.กลุ่มโรคติดเชื้อผ่านทางบาดแผลหรือเยื่อบุผิวหนังที่พบบ่อย คือ โรคเลปโตสไปโรซิสหรือไข้ฉี่หนู

สาเหตุ เกิดจากการติดเชื้อกลุ่ม Leptospira

อาการ ไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะรุนแรง มักปวดกล้ามเนื้อบริเวณน่องและโคนขาอย่างรุนแรง และตาแดง ประมาณร้อยละ 5-10 ของผู้ป่วยโรคนี้อาจมีอาการรุนแรง เช่น ดีซ่าน ไตวาย หรือช็อกได้ โรคนี้มักเป็นเกิดในที่ที่มีน้ำท่วม ผู้ที่บ้านมีหนูมาก เกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน คนงานฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โค สุกร ปลา ผู้ที่ทำงานขุดท่อระบายน้ำ เหมืองแร่ โรงฆ่าสัตว์ เป็นต้น

การป้องกัน ไม่ลุยน้ำขัง และใส่รองเท้าบูท

3. กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจที่พบบ่อย ได้แก่ โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ คออักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบหรือปอดบวม

สาเหตุ รับเชื้อไวรัสและแบคทีเรียในอากาศ แต่ปัจจุบันมีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ล่าสุดชนิดเอ H1N1 ซึ่งเป็นโรคระบาดใหม่ ที่ขณะนี้พบการระบาดทั่วประเทศ

อาการ มีไข้ น้ำมูกไหล ปวดเมื่อยตามร่างกาย

การป้องกัน ใช้ผ้าปิดจมูก และ ล้างมือบ่อยๆ

4.กลุ่มโรคติดต่อที่เกิดจากยุง ที่สำคัญ 3 โรค ได้แก่

4.1 โรคไข้เลือดออก 

สาเหตุ มียุงรำคาญเป็นพาหะนำโรค

อาการ มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก และมีผื่นที่ผิวหนังได้

4.2 ไข้สมองอักเสบเจอี (Japanese Encephalitis)

สาเหตุ มียุงลายเป็นพาหะนำโรค

อาการ ผู้ป่วยมักแสดงอาการหลังได้รับเชื้อ 5-15 วัน ในระยะแรกจะมีไข้สูง อาเจียน ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ซึ่งจะกินเวลา 1-7 วัน (ส่วนใหญ่ 2-3 วัน) หลังจากนั้น จะมีอาการทางสมอง เช่น คอแข็ง สติสัมปชัญญะเลวลง ซึม เพ้อคลั่ง ชักหมดสติ หรือมือสั่น อัมพาต ระยะนี้กินเวลา 3-6 วัน ผู้ที่มีอาการรุนแรงอาจถึงตายได้ในระยะนี้ (อัตราการตายร้อยละ 15-30 ของผู้ป่วย) หลังจากนั้นไข้จะค่อยๆลดลงสู่ปกติ และอาการทางสมองจะค่อยๆดีขึ้น แต่ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่รอดชีวิตจะยังมีความผิดปกติทางสมองเหลืออยู่ เช่น เกร็ง อัมพาต ชัก ปัญญาอ่อน หงุดหงิดง่าย พูดไม่ชัด เป็นต้น

4.3 โรคมาลาเรีย 

สาเหตุ มียุงก้นปล่องที่อยู่ในป่าเป็นพาหะนำโรค

อาการ ปวดศีรษะ เป็นไข้ สั่น ปวดในข้อ อาเจียน โลหิตจางเพราะเม็ดเลือดแดงแตก ดีซ่าน มีฮีโมโกลบินในปัสสาวะ

การป้องกัน ทายากันยุง, อยู่ห่างจากที่ยุงชุม และ กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์

5. โรคเยื่อบุตาอักเสบหรือโรคตาแดง 

สาเหตุ ส่วนใหญ่จะติดต่อโดยตรงจากการสัมผัสน้ำตาของผู้ป่วย ที่ติดมากับนิ้วมือ และแพร่จากนิ้วมือมาติดที่ตาโดยตรง

อาการ อาจมีตาแดงอย่างเดียวหรือตาแดงร่วมกับอาการเจ็บคอจากคออักเสบร่วมด้วย มักเป็นที่ตาข้างใดข้างหนึ่งก่อน แล้วติดต่อมายังตาอีกข้าง ใน 1-2 วัน บางรายอาจแพ้แสง เนื่องจากตาดำอักเสบ ทำให้เคืองตามาก

การป้องกัน ดูแลสุขอนามัย, ตัดเล็บให้สั้น และล้างมือบ่อยๆ

นอกจากนี้ ในช่วงฤดูฝนต้องระวังอีก 2 เรื่อง คือ ปัญหาน้ำกัดเท้าที่เกิดจากเชื้อรา สาเหตุเกิดจากการแช่น้ำสกปรกนาน ๆ ทำให้ผิวหนังเป็นผื่นแดง ถ้าเกาจะเป็นแผลมีน้ำเหลืองออก และควรระวังอันตรายจากสัตว์มีพิษต่างๆ เช่น งู ตะขาบ แมงป่องที่หนีน้ำมาอาศัยในบริเวณบ้าน