ไม้เท้าเลือกและใช้อย่างไรให้เหมาะสม
ไม้เท้าเลือกและใช้อย่างไรให้เหมาะสม
ไม้เท้า ถือเป็นอุปกรณ์ช่วยเดินที่มีผู้ใช้มากที่สุด โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ซึ่งพบว่าร้อยละ 10 ของผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป มีการใช้ไม้เท้าในชีวิตประจำวัน ไม้เท้าจึงถือเป็นอุปกรณ์ที่มีบทบาทต่อการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุเป็น อย่างมากนอกจากนี้ยังครอบคลุมถึงผู้ที่มีปัญหาการเคลื่อนไหวร่างกายไม่สะดวก หรือต้องการความช่วยเหลือในการพยุงตัว โดยทั่วไปไม้เท้าสามารถช่วยรับน้ำหนักตัวบางส่วนแทนขาข้างที่อ่อนแรงหรือมี อาการปวด ช่วยเพิ่มความมั่นคงในการเคลื่อนไหวโดยการเพิ่มฐานรองรับน้ำหนักร่าง กายกว้างขึ้น ทำให้ผู้ใช้มีความมั่นใจในการเคลื่อนไหวมากขึ้น
ไม้เท้าสำหรับค้ำยัน เมื่อก่อนนั้น เป็นเพียงไม้เท้าธรรมดาทั่วไป มักทำจากไม้ และมีลักษณะเหมือนคันร่ม แต่ในปัจจุบัน ไม้เท้ามีการพัฒนาไปมากมายหลายรูปแบบด้วยกัน ทำจากวัสดุหลากหลาย และยังมีหลายประเภทเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้อย่างเหมาะสมซึ่งสามารถ เลือกได้ตามความต้องการ ปัจจุบันไม้เท้าสามารถแบ่งเป็นชนิดต่างๆ ได้ดังนี้
• ไม้เท้าแบบมาตรฐาน (Standard Cane) เป็นไม้เท้าปุ่มเดียวที่ใช้เพื่อช่วยเพิ่มความสามารถในการควบคุมการทรงท่า อย่างไรก็ตามลักษณะของที่จับของไม้เท้าประเภทนี้ ทำให้การลงน้ำหนักผ่านแขนไม่อยู่ในแนวของไม้เท้า ซึ่งอาจส่งผลต่อความมั่นคงในการเคลื่อนไหวลดลงได้ จึงไม่เหมาะที่จะใช้ในผู้ที่ต้องการใช้แขนช่วยรับน้ำหนักตัวแทนขา
• ไม้เท้าปรับระดับ (Offset Cane) เป็นไม้เท้าปุ่มเดียวที่ช่วยกระจายน้ำหนักได้มากกว่าไม้เท้าแบบมาตรฐาน เนื่องจากมีจุดรับน้ำหนักอยู่ตรงกับตำแหน่งของมือที่จับไม้เท้า จึงช่วยให้สามารถใช้แขนรับน้ำหนักตัวบางส่วนได้ดีกว่าไม้เท้าแบบมาตรฐาน เป็นรูปแบบไม้เท้าที่มีการพัฒนาการออกแบบให้หลากหลายมากขึ้น เช่น ใช้วัสดุที่มีน้ำหนักเบา ทนทานมากขึ้น มีลวดลายสีสันสวยงาม ดัดแปลงให้สามารถพับเก็บได้หรือดัดแปลงเป็นเก้าอี้สำหรับพักชั่วคราวได้ เป็นต้น
• ไม้เท้า 3 ขา (Tripod Cane) และไม้เท้า 4 ขา (Quad Cane) เป็นไม้เท้าแบบที่มีปุ่มรับน้ำหนัก 3 และ4 ตำแหน่งตามลำดับ ฐานรับน้ำหนักกว้างขึ้น จึงช่วยให้ผู้ใช้สามารถลงน้ำหนักที่แขนได้มากขึ้น จึงมีความมั่นคงกว่าแบบปุ่มเดียวและผู้ใช้ยังสามารถปล่อยมือจากไม้เท้า เพื่อหยิบจับสิ่งของโดยที่ไม้เท้ายังตั้งอยู่ได้ อย่างไรก็ตาม ไม้เท้าทั้งสองประเภทนี้จะเกิดประโยชน์สูงสุดเมื่อปลายด้านล่างทุกด้าน สัมผัสพื้นทั้งหมดขณะที่มีการลงน้ำหนักผ่านไม้เท้า ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการปวดขณะเดิน ที่เกิดจากภาวะข้อเสื่อมระดับปานกลางถึงรุนแรง เป็นต้น อย่างไรก็ดีฐานที่กว้างขึ้นอาจจะมีผลทำให้ไม้เท้ามีน้ำหนักมากขึ้นและอาจทำ ให้ไม่สะดวกคล่องตัวเท่ากับไม้เท้าแบบปุ่มเดียว
วิธีการเลือกไม้เท้า
– ด้ามจับ ควรมีขนาดที่พอเหมาะ เมื่อจับแล้วรู้สึกกระชับ ไม่ลื่นมียางหุ้มส่วนที่สัมผัสพื้นเพื่อกันลื่น ซึ่งถ้าใช้ไปนานๆจุกยางอาจสึกมาก ก็ควรจะเปลี่ยนใหม่
– ควรปรับระยะสั้นยาวได้ ความยาวของไม้เท้าที่เหมาะสมคือ เมื่อยืนแล้ว มือจับจะอยู่ระดับเดียวกับข้อมือ โดยข้อศอกจะงอประมาณ 20-30 องศา
วิธีการใช้ไม้เท้าให้ถูกต้อง
– การจับไม้เท้า จับด้วยมือข้างเดียวกับขาข้างดี ค่อยๆ ทิ้งน้ำหนักตัวลงไปบนไม้เท้า เพื่อทดสอบความแข็งแรง ว่ารับน้ำหนักผู้ใช้ได้อย่างมั่นคง
– การเดินบนพื้นราบ ใช้ไม้เท้าเป็นตัวนำ ขาอ่อนแรงก้าวตาม น้ำหนักตัวจะลงบนไม้เท้า ขาดีปิดท้าย
– การขึ้นลงบันไดให้ถือหลักว่า “ ดีขึ้น เลวลง” กล่าวคือ เวลาขึ้นบันได ขาดีขึ้นก่อน ขาอ่อนแรง + ไม้เท้าขึ้นตาม หยุดที่บันไดขั้นเดียวกันแล้วเริ่มใหม่ มืออีกข้าง อาจจับราวบันได ( ถ้ามี )
เวลาลงบันได เอาไม้เท้านำก่อน ขาอ่อนแรงตาม ขาดีปิดท้าย มืออีกข้าง อาจจับราวบันได (ถ้ามี)
– การลุกจากที่นั่ง จับไม้เท้าตั้งให้มั่นคง เหยียดขาข้างเจ็บไปข้างหน้า มืออีกข้างดันตัวลุกขึ้นยืน ยืนทรงตัวบนขาข้างที่ดี ยืนตรง โดยปลายไม้เท้าควรอยู่ห่างด้านข้างเท้าประมาณ 4-6 นิ้ว ลองยกไม้เท้าขึ้น
ถ้าไม่เซจึงเริ่มเดิน
ข้อควรระวังในการใช้ไม้เท้า
– ระยะก้าวขาไม่สม่ำเสมอ ก้าวขายาวเกินไป หรือก้าวขาไม่สัมพันธ์กับการเคลื่อนที่ของไม้เท้า
– ระดับไม้เท้าสูงเกินไป ทำให้ข้อศอกงอ ต้องใช้กล้ามเนื้อต้นแขนมากในการเดิน เป็นเหตุให้ปวดแขน ปวดไหล่
– เดินงอสะโพกหรือแอ่นสะโพก ซึ่งอาจเกิดจากไม้เท้าสั้นหรือยาวเกินไป หรือเกร็งกล้ามเนื้อขามากเกินไป
You must be logged in to post a comment.