การป้องกันแผลกดทับโดยการใช้ที่นอนลมแบบไฟฟ้า
การป้องกันแผลกดทับโดยการใช้ที่นอนลมแบบไฟฟ้า
แผลกดทับเป็นภาวะที่พบได้บ่อยใน ผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการเคลื่อนไหว ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้เอง ผิวหนังถูกกดทับเป็นเวลานานอย่างต่อเนื่อง ทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงผิวหนังที่ถูกกดทับได้อย่างสะดวก ส่งผลให้ผิวหนังมีลักษณะเป็นรอยแดงและรอยแตกลายของผิวหนัง อาจเกิดการตายของเซลล์และเนื้อเยื่อ ซึ่งหากทิ้งไว้ไม่รักษาจะเกิดเป็นแผลและติดเชื้อได้ แผลกดทับที่เป็นมาก อาจกินลึกไปถึงชั้นกล้ามเนื้อ ตำแหน่งที่มักจะพบได้บ่อยคือส่วนของร่างกายที่ไม่ค่อยมีไขมัน หรือบริเวณเนื้อเยื่อที่อยู่เหนือปุ่มกระดูก เช่น บริเวณก้นกบ ด้านข้างของสะโพก ส้นเท้า ตาตุ่ม การเกิดแผลกดทับจะส่งผลให้ผู้ป่วยทุกข์ทรมานจากการรักษาที่ยุ่งยาก เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และส่งผลกระทบทางด้านจิตใจของผู้ป่วยด้วย
อย่างไรก็ดี แผลกดทับยังเป็นสิ่งที่ป้องกันหรือลดความรุนแรงลงได้ ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธีนับตั้งแต่การดูแลพลิกตะแคงตัว เปลี่ยนท่านอนทุก 2 ชั่วโมง การจัดท่านอนที่เหมาะสม การดูแลผิวหนังอย่างสม่ำเสมอ การดูแลให้อาหารผู้ป่วยอย่างเพียงพอ และการใช้อุปกรณ์ที่ช่วยลดแรงกดทับ
ที่นอนลมแบบไฟฟ้า เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยลดแรงกดและกระจายแรงกดทับ โดยใช้แรงปั๊มลมจากเครื่องปั๊มไฟฟ้า ปั๊มทำงานแบบสลับการยุบพองของที่นอนลมต่อเนื่องตลอดเวลา ทำให้มีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องและอัตโนมัติเป็นจังหวะ ทำให้ร่างกายไม่ถูกกดทับบริเวณใดบริเวณหนึ่งนานๆ จึงช่วยลดโอกาสการเกิดหรือช่วยลดความรุนแรงของแผลกดทับได้ โดยทั่วไปที่นอนลมแบบไฟฟ้าจะมีอยู่ 2 ชนิดคือ
1.ที่นอนลมแบบรังผึ้ง หรือบับเบิ้ล( Bubble )จะทำงานโดยการปั๊มลมสลับการพองตัวของที่นอนที่มีลักษณะคล้ายรังผึ้ง วัสดุทำจากผืนพีวีซีเนื้อเหนียว มีความยืดหยุ่นแข็งแรง ไม่อับชื้น ทนทาน ทนต่อการกัดกร่อนของน้ำยาเคมี ดูแลทำความสะอาดง่าย เพียงใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดแล้วตากให้แห้งในที่ร่มก็พอ ห้ามถูกแดดโดยตรง ที่สำคัญที่นอนแบบรังผึ้งเหมาะสำหรับผู้ที่มีแผลกดทับแล้ว เพราะเวลาทำแผลอาจจะมีน้ำยาทำแผลหกเลอะเทอะใส่ที่นอนก็สามารถเช็ดและทำความ สะอาดง่าย ความสามารถในการรับน้ำหนัก ความกว้างยาว จะแตกต่างกันไปตามรุ่นและยี่ห้อของผลิตภัณฑ์ สามารถปรับความดันเบาะได้ง่ายด้วยปุ่มปรับความดันบนเครื่องปั๊มลม
2.ที่นอนลมแบบลอนขวาง เหมาะสำหรับผู้ป่วยอัมพาต อัมพฤกษ์ ผู้สูงอายุ จะทำงานช่วยลดแรงกดทับและกระจายแรงกดทับไปทั่วร่างกาย ลดแรงเสียดสีระหว่างที่นอนและผิวของผู้ป่วยด้วยระบบสลับการพองของลอนที่นอน รูปแบบส่วนใหญ่เป็นวัสดุไนล่อน พีวีซี มีความยืดหยุ่นสูง ข้อดีของที่นอนลมแบบลอนขวางคือ ในกรณีที่นอนรั่วหรือชำรุด สามารถถอดเปลี่ยนลอนอะไหล่ได้ไม่ต้องเสียเวลาส่งซ่อม ความสามารถในการรับน้ำหนัก ขนาดความกว้างยาว หรือความสูงของลอน จำนวนลอนจะแตกต่างกันไปตามรุ่นและยี่ห้อของผลิตภัณฑ์ มีปั๊มลมแบบอัตโนมัติสามารถปรับระดับแรงดันลมเพื่อรองรับน้ำหนักผู้ป่วยได้ ตามความต้องการ และผ้าคลุมที่นอนกันน้ำ โดยปกติที่นอนลมแบบขวางจะมีราคาสูงกว่า
หลักเกณฑ์ในการเลือก
1.รายละเอียดของผู้ป่วย เช่น
– ถ้าเป็นแผลกดทับแล้วต้องทำแผลบ่อย แบบรังผึ้งก็จะให้ความสะดวกกว่าเพราะทำความสะอาดง่าย
– ถ้าผู้ป่วยมีน้ำหนักมาก อาจต้องพิจารณารุ่นที่สามารถรองรับน้ำหนักได้มาก เพราะจะมีความทนทานในระยะยาวมากกว่า
2.ขนาดของที่นอนควรสัมพันธ์กับขนาดของเตียงและผู้ป่วย
3.ชนิดของเตียงที่ใช้ ถ้าใช้เตียงแบบที่ปรับระดับความลาดเอียง ที่นอนลมแบบขวางก็จะเหมาะสมกว่า
4.ที่นอนแบบลอนบางรุ่น แต่ละลอนอาจจะมีระบบระบายอากาศ ช่วยการถ่ายเทอากาศ
5.ประสิทธิภาพของเครื่องปั๊มลม
– จำนวนการปรับระดับของเครื่องปั๊มลม
– Flow Rate
– ปุ่มสัญญาณไฟแสดงและเตือนการทำงาน ระบบตัดไฟในกรณีไฟรั่วหรือไฟเกิน ที่อาจเป็นอันตราย
– ระดับความดังของปั๊มลม
6.การดูแลในกรณีรั่วหรือชำรุด แบบลอนสามารถเปลี่ยนอะไหล่โดยไม่ต้องเสียเวลาส่งซ่อม ในขณะที่แบบรังผึ้งถ้ารั่วต้องส่งซ่อมทั้งผืน
7.ราคา ที่นอนลมแบบลอนราคาจะสูงกว่าแบบรังผึ้ง
8.ความน่าเชื่อถือของบริษัท และบริการหลังการขาย
– มีศูนย์บริการ สามารถซื้ออะไหล่ หรือส่งซ่อม
– เงื่อนไข ระยะเวลาการรับประกันที่นอนและเครื่องปั๊ม
– จำนวนของอุปกรณ์เสริมที่ให้มาพร้อมกับผลิตภัณฑ์ เช่น จำนวนลอนอะไหล่ ผ้าคลุมที่นอน เป็นต้น
แม้ว่าเราจะสามารถป้องกันและลดโอกาสการเกิด หรือช่วยลดความรุนแรงของแผลกดทับได้ด้วยการใช้ที่นอนลมแบบไฟฟ้าที่ได้เลือก แล้ว อย่างไรก็ดีแบบแผนในการดูแลผู้ป่วยที่เป็นหรือมีโอกาสเป็นแผลกดทับก็ยังมี ความสำคัญต้องทำอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง นับตั้งแต่การทำความสะอาดแผล การดูแลพลิกตะแคงตัว เปลี่ยนท่านอนทุก 2 ชั่วโมง การจัดท่านอนที่เหมาะสม การดูแลผิวหนังอย่างสม่ำเสมอ การดูแลให้อาหารผู้ป่วยให้มีสารอาหารที่จำเป็นอย่างเพียงพอ
การดูแลที่เหมาะสมตามระดับของแผล ป้องกันไม่ให้แผลลุกลามมากขึ้น การลดแรงกดทับที่เหมาะสม รวมทั้งการดูแลเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆจะทำให้อาการของแผลกดทับเป็นไปในทาง ที่ดี
You must be logged in to post a comment.