สารอาหารเสริมความจำ
สารอาหารเสริมความจำ
ในอดีตเราเชื่อกันว่าประสิทธิภาพของสมองถูกกำหนดโดยปัจจัยทางพันธุกรรม และเซลล์สมองที่ถูกสร้างตั้งแต่เด็กจะเสื่อมสภาพไปตามอายุ มีผลทำให้การทำงานของสมองเสื่อมถอยตามไปด้วย แต่ปัจจุบันความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ชี้ให้เห็นว่าสมองส่วนหน้า ที่เกี่ยวกับการเรียนรู้และความจำที่เรียกว่า ฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) สามารถสร้างเซลล์ใหม่และพัฒนาได้ตลอดชีวิตเท่าที่ยังได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอและเหมาะสม ร่วมกับการฝึกสมองอย่างสม่ำเสมอ ในครั้งนี้มาดูกันว่า สารอาหารที่จำเป็นต่อการสร้างประสิทธิภาพสมองและเสริมความจำมีอะไรบ้าง
– วิตามิน บี1 มีบทบาทสำคัญในการส่งผ่านสัญญาณของกระแสประสาท ช่วยเร่งการส่งต่อข้อมูลของเซลล์สมอง และการสร้างพลังงานของสมอง การขาดวิตามินบี1 ทำให้การรับรู้และความจำลดลง อาจส่งให้คลื่นสมองผิดปกติ อารมณ์แปรปรวน สับสน ฉุนเฉียวง่าย ปริมาณวิตามินบี1 ที่ใช้เพื่อสร้างเสริมความจำคือวันละ 50-100 mg.
– วิตามิน บี 6 มีหน้าที่สำคัญในการสังเคราะห์กรดอะมิโนในร่างกาย ช่วยในการทำงานของระบบประสาท โดยเกี่ยวข้องกับกระบวนการสร้างความจำถาวร ช่วยในการสร้างสารสื่อประสาท ปริมาณวิตามินบี 6 ที่ต้องการคือวันละ 50-100 mg.
– วิตามินบี 12 ช่วยในขบวนการเผาผลาญอาหารเพื่อให้ได้พลังงานสำหรับสมอง และช่วยสังเคราะห์เยื่อหุ้มเส้นประสาท มีรายงานว่าการขาดวิตามินบี12 อาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดอัลไซเมอร์และการสูญเสียความจำระยะสั้นเพิ่มขึ้น 4 เท่า ปริมาณวิตามินบี 12 ที่ต้องการคือวันละ 500 ไมโครกรัม
– กรดโฟลิค เป็นวิตามินบีชนิดหนึ่ง กรดโฟลิค วิตามินบี 6และบี 12 จะช่วยกันทำงานเพื่อลดระดับโฮโมซิสเตอีน ( homocysteine ) ในเลือด ซึ่งเป็นกรดอะมิโนที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบของร่างกาย โฟเลตหรือกรดโฟลิคที่สูงขึ้นจะมีความสัมพันธ์กับระดับของโฮโมซิสเตอีนที่ต่ำลง การมีโฮโมซีสเตอีนที่สูง จะเพิ่มความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดและหัวใจ หลอดเลือดสมองตีบ ความจำถดถอย และเพิ่มความเสี่ยงอัลไซเมอร์ ปริมาณโฟลิคที่ต้องการเพื่อใช้ป้องกัน คือ วันละ 400 ไมโครกรัม
– วิตามิน อี เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยป้องกันกรดไขมันที่เป็นส่วนประกอบของเยื่อหุ้มเซลล์ประสาทจากปฎิกิริยาออกซิเดชั่น จึงช่วยป้องกันความเสื่อมของสมองจากอนุมูลอิสระได้ งานวิจัยพบว่าการเสริมวิตามินอี อาจช่วยป้องกันหรือลดความเสี่ยงต่อการเกิดอัลไซเมอร์ได้ วิตามินอี ที่ต้องการคือวันละ 400mg.(อาจรับประทานร่วมกับวิตามินซีวันละ 1000 mg. วิตามินเอ ในรูปของเบต้าแคโรทีนวันละ 15 mg. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของกลุ่มสารต้านอนุมูลอิสระ)
– Docosahexaenoic Acid (DHA ) เป็นกรดไขมันโอเมก้า 3 โดย DHA จะช่วยในการเสริมสร้างการเจริญเติบโตของปลายประสาทการถ่ายทอดข้อมูลและการส่งสัญญานของเซลล์ประสาท เพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ ความจำ และการมองเห็น ขนาดรับประทานที่แนะนำ คือ 250-500 mg./วัน
– เลซิทิน (Lecithin) สารโคลีน(choline) ที่เป็นองค์ประกอบหลักของเลซิทิน จะถูกนำไปสังเคราะห์เป็นสารสื่อประสาทที่เรียกว่า อะซีติลโคลีน (acetylcholine) ซึ่งมีประโยชน์ต่อการทำงานของระบบประสาท การขาดโคลีนจะทำให้การเรียนรู้และความจำเสื่อมลง ขนาดแนะนำสำหรับป้องกันความจำเสื่อมคือวันละ 1200-2400 mg.
– ฟอสฟาติดิลซีรีน ( Phosphatidylserine) เป็นไขมันชนิดหนึ่งที่เป็นองค์ประกอบหลักของเยื่อหุ้มเซลล์ประสาท นักวิจัยจึงเชื่อว่า ฟอสฟาติดิลซีรีนอาจป้องกันเซลล์สมองเสื่อมได้ ขนาดรับประทานครั้งละ 300 mg.วันละ 3 ครั้ง
– สารสกัดจากใบแป๊ะก๊วย (Ginkgo extracts) ช่วยส่งเสริมการไหลเวียนของเลือดไปที่สมอง ช่วยให้สมองได้รับสารอาหารและออกซิเจนมากขึ้นเป็นสารต้านอนุมูลอิสระขนาดรับประทานที่แนะนำ 60-240 mg/วัน
– คาร์นิทีน (Carnitine)หรืออะซีติล-แอล-คาร์นิทีน (Acetyl-L-Carnitine) เป็นกรดอะมิโนที่ช่วยในการผลิตพลังงานในร่างกาย และเนื่องจากมีโครงสร้างที่สัมพันธ์กับอะซีทิลโคลีนจึงเชื่อว่าจะช่วยเพิ่มสารสื่อประสาทนี้ได้ ขนาดรับประทานที่แนะนำครั้งละ 500 mg.วันละ 3 ครั้ง
– แม้ว่าการเลือกรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจะเป็นทางเลือกหนึ่งในการสร้างเสริมประสิทธิภาพของสมองและช่วยเสริมความจำ แต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การเลือกรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์อย่างเหมาะสม การออกกำลังกาย และการออกกำลังสมองอย่างสม่ำเสมอ ก็ยังเป็นสิ่งที่ยังต้องให้ความสำคัญที่ต้องปฏิบัติควบคู่กันไปด้วย
เอกสารอ้างอิง :
1. Phyllis A Balch., Prescription for nutritional healing, 4 th edition , ,AVERY,Penguin group,USA.
2. The Healing Power of vitamins,minerals & herbs , Reader’s Digest ( Australia ) Pty Limited.
3. Michael Murray N.D. ,The Pill Book Guide to Natural Medicines, A Bantam Book.
You must be logged in to post a comment.