โรคภูมิแพ้ (Allergies) รู้ทันโรคอย่างไร จึงจะไม่แพ้
โรคภูมิแพ้ เป็นกลุ่มของโรคที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายซึ่งเป็นระบบกลไกที่มีหน้าที่ป้องกันร่างกายจากสิ่งแปลกปลอมภายนอก เช่น เชื้อโรคต่าง ๆ สารเคมี ฝุ่น พืช ละอองเกสร ขนสัตว์ เป็นต้น มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งเหล่านี้มากกว่าปกติหรือไวเกินกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการแพ้ขึ้น (ไม่เกิดในคนปกติ)
สิ่งที่มากระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ดังกล่าว เรียกว่า สารก่อภูมิแพ้ (allergen)กลไกหลักของการเกิดอาการแพ้เกิดจากการที่ร่างกายได้สัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งครั้งหนึ่งร่างกายของเราเคยได้รับมาก่อนและจดจำเอาไว้ พอได้รับสารก่อภูมิแพ้ชนิดนั้นอีก สารนั้นจะทำปฏิกิริยากระตุ้นให้เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่เรียก mast cell ที่มีภูมิคุ้มกันเฉพาะชนิดหนึ่งที่เรียก IgE ปล่อยสารเคมีชนิดที่ทำให้อวัยวะต่างเกิดอาการภูมิแพ้ออกมา สารเคมีหลักที่ถูกหลั่งออกมาเรียกว่า ฮีสตามีน (Histamine) ในโรคแพ้อากาศ สารนี้จะไปทำให้เยื่อบุในโพรงจมูก บวม มีสารคัดหลั่งออกมาเป็นน้ำมูก หรือในโรคลมพิษ สารนี้ก็จะไปทำให้เกิดผื่นแดง คัน บวม ตามผิวหนังขึ้น เป็นต้นโรคภูมิแพ้ เกิดขึ้นได้หลายระบบ เช่น
1. เกิดขึ้นในระบบการหายใจมีอาการได้ตั้งแต่น้ำมูกไหล จาม คันจมูก คัดจมูก (คนทั่วไปมักเรียกโรคแพ้อากาศ) หรืออาจมีอาการรุนแรง เช่น ไอ มีเสมหะมาก มีอาการหอบซึ่งเป็นอาการของโรคหืดบางคนอาจเป็นทั้งโรคหืดและโรคแพ้อากาศ สาเหตุของโรคภูมิแพ้ของระบบการหายใจนี้ส่วนมากเกิดจากสารก่อภูมิแพ้ในอากาศสำหรับสาเหตุที่เกิดกับคนไทยส่วนใหญ่แล้วเกิดจากไรฝุ่นในบ้านเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดรองลงมาได้แก่เศษและขี้แมลงสาบ ขนและรังแคสัตว์เลี้ยง เช่น แมว สุนัข หรือเกสรพืชหรือเชื้อราในอากาศ สำหรับในเด็กเล็ก ๆอาหารอาจเป็นสาเหตุของโรคภูมิแพ้ของระบบการหายใจได้เช่นเดียวกัน เช่น แพ้นมวัว ไข่เป็นต้น
2. เกิดขึ้นที่ผิวหนังเช่น อาการลมพิษหรือผื่นภูมิแพ้ในเด็ก หรือผื่นแพ้จากการสัมผัสสาเหตุใหญ่ของลมพิษมักเป็นอาหารและยาส่วนผื่นภูมิแพ้ในเด็กมักเกิดขึ้นเองในเด็กที่มีแนวโน้มในการเกิด เช่นมีกรรมพันธุ์ของโรคภูมิแพ้ในครอบครัว อาหาร เช่น นม ไข่ อาจทำให้เกิดอาการผื่นซึ่งมักเกิดบริเวณแก้มเด็กเล็ก หรือข้อพับในเด็กโต
3. เกิดขึ้นในระบบทางเดินอาหารได้แก่อาการปวดท้อง อาเจียน ท้องร่วง สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการแพ้อาหาร
4. เกิดขึ้นในหลายระบบและรุนแรงผู้ป่วยบางรายมีอาการแพ้มาก อาจมีอาการเกิดขึ้นในทุกระบบ เช่น หอบ ลมพิษช็อค หรืออาจรุนแรงจนเสียชีวิตภายหลังจากกินอาหารบางชนิด เช่น กุ้ง ถั่วลิสง ฯลฯหรือภายหลังได้รับยา เช่น เพนนิซิลลิน
หลักการรักษาโรคภูมิแพ้
เนื่องจากโรคภูมิแพ้เป็นโรคเรื้อรัง จำเป็นต้องใช้เวลาในการรักษานาน การรักษาที่สำคัญที่สุด จะเริ่มตั้งแต่การสืบค้นให้ได้แน่ชัดว่าแพ้อะไร จากประวัติของผู้ป่วย จากการทำการทดสอบทางผิวหนัง และการตรวจเลือด จะทำให้แพทย์พอจะทราบว่าสารก่อภูมิแพ้คืออะไร เพราะหลักการรักษาที่ดีที่สุดและได้ผลที่สุดคือหลีกเลี่ยงจากสิ่งที่แพ้นั้น ในกรณีที่ทราบแต่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงจากสิ่งที่แพ้ได้เต็มที่ เช่น ไรฝุ่น ฝุ่นบ้าน ก็จำเป็นต้องรักษาด้วยยารักษาภูมิแพ้ตามที่แพทย์แนะนำ ซึ่งยาที่นิยมใช้ในปัจจุบันมีหลายกลุ่ม เช่น
– ยาต้านสารฮีสตามีน (anti-histamine)ยากลุ่มนี้เป็นที่นิยมใช้มากที่สุด ปัจจุบันมีหลายชนิด มีทั้งชนิดออกฤทธิ์สั้น ๆ ราว 4-6 ชั่วโมง ต้องรับประทานวันละ 4 ครั้ง หรือชนิดที่ออกฤทธิ์ยาว 12 ชั่วโมงหรือ 24 ชั่วโมง รับประทานวันละ 1-2 ครั้งก็พอ ยาในกลุ่มต้านสารฮีสตามีนนี้มักก่อให้เกิดอาการง่วงนอน ดังนั้นหลังจากกินยากลุ่มนี้จึงไม่ควรขับรถยนต์หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมียาต้านสารฮีสตามีนใหม่ ๆ หลายชนิดที่ไม่มีผลข้างเคียงเรื่องง่วงนอนหรือมีน้อย แต่ราคามักแพงกว่ายาในกลุ่มที่ทำให้เกิดอาการง่วงนอน
– ยาลดอาการคั่งของจมูก ยาในกลุ่มนี้ออกฤทธิ์ทำให้เส้นเลือดในจมูกหดตัว ทำให้น้ำมูกลดลง จมูกโล่ง ไม่คัดจมูก แต่ข้อเสียของยากลุ่มนี้คืออาจทำให้คอแห้ง กระวนกระวายใจสั่น นอนไม่หลับ ในคนสูงอายุอาจทำให้โรคหัวใจกำเริบ ปัสสาวะไม่ออกหรือตาต้อหินกำเริบได้ จึงควรใช้ด้วยความระมัดระวังตามคำแนะนำของแพทย์ ยาในกลุ่มนี้มีทั้งชนิดกินและชนิดพ่นจมูก สำหรับยาชนิดพ่นไม่ควรใช้นานเกิน 7 วัน มิฉะนั้นจะก่อให้เกิดอาการติดยาและคัดจมูกมากกว่าเดิม เกิดเป็นภาวะจมูกอักเสบเรื้อรังจากยาได้ จึงไม่ควรซื้อมาใช้เองอย่างเด็ดขาด
– ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก ยาในกลุ่มนี้ช่วยลดอาการอักเสบของเยื่อบุจมูก และลดปฏิกิริยาภูมิแพ้ที่บริเวณเยื่อบุจมูกโดยไม่ก่อให้เกิดอาการติดยาเหมือนกลุ่มที่แล้ว แต่ควรใช้ภายใต้ความควบคุมของแพทย์เท่านั้น
การรักษาด้วยการฉีดยาภูมิแพ้ เป็นวิธีการรักษาภูมิแพ้ โดยอาศัยหลักการที่ว่าเมื่อฉีดสารก่อภูมิแพ้เข้าไปในร่างกาย โดยค่อย ๆ เพิ่มขนาดอย่างสม่ำเสมอเป็นเวลานาน ร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานขึ้นมา ทำให้ทนต่อสารก่อภูมิแพ้ชนิดนั้น ๆ ได้ดี โรคภูมิแพ้ชนิดที่รักษาด้วยวิธีนี้ได้ผลคือ โรคแพ้อากาศ และโรคหอบหืดจากภูมิแพ้ ส่วนโรคภูมิแพ้ชนิดอื่น ๆ เช่น ลมพิษ แพ้อาหาร ผิวหนังอักเสบ การรักษาด้วยการฉีดสารภูมิแพ้จะได้ผลไม่แน่นอน
แนวทางในการปฏิบัติตัวเมื่อเป็นโรคภูมิแพ้
ก่อนอื่นผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ ควรมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้ว่า
•โรคภูมิแพ้เป็นโรคเรื้อรัง ที่ต้องใช้เวลาในการรักษานาน
•การรักษาด้วยยาในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นเพียงการควบคุมอาการให้ ผู้ป่วยมีอาการน้อยที่สุดเท่านั้น
•เมื่อได้รับการรักษา อาการจะดีขึ้น แต่มักจะมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ ขึ้นกับปัจจัยหลายประการ อาการอาจดีขึ้น หรือไม่มีอาการไปพักใหญ่ ๆ แล้วอาจมีอาการกลับมาเป็นอีกได้
•อาการของโรคนี้เกิดขึ้นเมื่อร่างกายมีปฏิกิริยาต่อสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งอาการจะมากหรือน้อยขึ้นกับปริมาณสารก่อภูมิแพ้ และปฏิกิริยาในร่างกายของผู้ป่วยแต่ละรายไม่เท่ากัน
•โรคนี้ไม่ใช่โรคติดต่อ ไม่ใช่โรคติดเชื้อ แต่สามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้
พยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้อาการของโรคภูมิแพ้กำเริบขึ้น ได้แก่
•ความเครียด และความวิตกกังวล ไม่ว่าจากเรื่องงาน ครอบครัว หรืออื่นๆ ยิ่งเครียดมาก วิตกกังวลมาก อาการก็จะเป็นมากขึ้น
•การอดหลับอดนอน ภาวะที่ร่างกายได้รับการพักผ่อนไม่เพียงพอ เป็นปัจจัยสำคัญมากที่ทำให้อาการกำเริบขึ้น
•การเปลี่ยนอุณหภูมิที่เร็วเกินไป เช่นอยู่ในห้องปรับอากาศเย็นๆ แล้วออกไปกลางแดด แล้วกลับเข้าในห้องเย็นๆ อีก จะทำให้ร่างกายปรับอุณหภูมิตามไม่ทัน จะเกิดอาการคัดจมูกได้
•การเปลี่ยนแปลงของอากาศ เช่น ร้อนจัด หนาวจัด
•สิ่งระคายเคืองต่างๆ ได้แก่ ควันไฟ ควันบุหรี่ กลิ่นน้ำหอม ฝุ่นชอล์ค กลิ่นสี กลิ่นอาหารรสเผ็ดควันท่อไอเสียรถยนต์ สารระเหยต่างๆ ยากันยุง ยาฆ่าแมลง เป็นต้น สิ่งระคายเคืองพวกนี้จะทำให้อาการภูมิแพ้กำเริบได้ง่าย
นอกจากการหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้โดยตรง เท่าที่จะทำได้แล้ว ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้สามารถช่วยตัวเองได้โดย พยายามจัดสิ่งแวดล้อมรอบตัวทั้งที่ทำงาน ที่บ้าน และในห้องนอนให้เสี่ยงต่อโรคภูมิแพ้น้อยที่สุด เพียงเท่านี้ โรคภูมิแพ้ ก็จะเป็นโรคที่ไม่แพ้อีกต่อไป
You must be logged in to post a comment.