ดูแลสุขภาพหัวใจด้วย Co-Enzyme Q10
ดูแลสุขภาพหัวใจด้วย Co-Enzyme Q10
Co-Enzyme Q10 หรือ CoQ10 หรืออีกชื่อหนึ่งคือ ยูบิควิโนน (Ubiquinone) เป็นชื่อสารคล้ายวิตามินที่มีบทบาทในการเพิ่มพลังงานให้แก่เซลล์ เพื่อใช้เป็นพลังงานในร่างกาย เป็นสารสำคัญในการสังเคราะห์ Adenosine Triphosphate (ATP) ซึ่งเป็นพลังงานพื้นฐานของเซลล์ ทั่วร่างกาย CoQ10 เป็นตัวต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพสูง ช่วยปกป้องเซลล์จากการทำร้ายของอนุมูลอิสระ ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคร้ายซึ่งมาจากการเสื่อมสภาพของเซลล์ เช่น โรคหัวใจ สมองเสื่อม หรือโรคที่เกิดจากความเสื่อมสภาพวัย ตามปกติร่างกายสามารถผลิต CoQ10 ได้โดยการสกัดและสังเคราะห์ผ่านตับ โดยดูดซึมสารอาหารที่ได้ในแต่ละวันและเก็บสะสมไว้ในเซลล์ไมโตคอนเดรีย ซึ่งเซลล์นี้มีอยู่มากในหัวใจ สมอง และกล้ามเนื้อ แต่การสังเคราะห์ดังกล่าวจะลดลงเมื่ออายุมากขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าในผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็ง โรคทางพันธุกรรมบางอย่าง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ผู้ป่วย HIV ผู้ป่วยพาร์กินสัน และการใช้ยาบางอย่าง เช่น ยาลดไขมันกลุ่มสแตตินก็อาจส่งผลให้ระดับ CoQ10 ลดลงได้เช่นกัน เมื่อระดับของ CoQ10 มีการเปลี่ยนแปลงไปก็จะส่งผลกระทบต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ริ้วรอย และความเสื่อม ของระบบต่างๆ
Co-Enzyme Q10 ดีต่อสุขภาพหัวใจอย่างไร
CoQ10 ทำหน้าที่เกี่ยวกับการให้พลังงานแก่เซลล์ ดังนั้นเซลล์ที่ยังมีชีวิตก็จะมีความต้องการพลังงานเพื่อขับเคลื่อนกิจกรรม ต่างๆ ก็จะต้องการ CoQ10 เช่นกัน อีกทั้งเซลล์ที่ต้องการพลังงานสูงก็จะต้องการ CoQ10 มากกว่าเซลล์ที่ต้องการพลังงานน้อย จึงเป็นเหตุที่เราจะพบ CoQ10 มากในเซลล์หัวใจ จากการศึกษาองค์ประกอบในเนื้อเยื่อหัวใจของผู้ป่วยโรคหัวใจ พบว่า 50 -75% ของผู้ป่วยจะขาด CoQ10 ในคนไข้โรคหัวใจส่วนมากจะพบการเสื่อมของกล้ามเนื้อหัวใจอยู่ด้วย ทั้งนี้เป็นผลมาจากการได้รับเลือดที่มีความเข้มข้นของออกซิเจนต่ำไปเลี้ยง หรือมีการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ CoQ10 จึงเป็นตัวป้องกันและรักษาการเสื่อมดังกล่าวด้วยการเป็นสารอาหารที่จำเป็น ซึ่งจะช่วยเพิ่มพลังงานในระดับเซลล์ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจและหลอดเลือดที่ไป เลี้ยงหัวใจมีความแข็งแรง นอกจากนี้คุณสมบัติของการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระยังช่วยยับยั้ง LDL- Cholesterol ไม่ให้เกาะผนังหลอดเลือด ลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะหลอดเลือดแข็งตัว และไม่เกิดการขยายตัวของภาวะการณ์ของโรคจนนำไปสู่หลอดเลือดอุดตัน อันก่อให้เกิดภาวะที่หัวใจขาดเลือด
เคยมีการศึกษาในผู้ป่วย โรคหัวใจ เนื่องจากเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ (Congestive Heart Failure) มากกว่า 2,500 คนแบ่งผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่ม โดยให้ผู้ป่วยโรคหัวใจกลุ่มหนึ่งได้รับ CoQ10 อีกกลุ่มหนึ่งให้ยาหลอกเพื่อดูว่า CoQ10 มีประโยชน์กับผู้ป่วยจริงหรือไม่ เป็นเวลา 12 เดือน ผลปรากฎว่า 80% มีอาการดีขึ้นอย่างชัดเจน อาการบวมของข้อเท้าลดลง อาการหายใจถี่ๆ ลดลง การนอนหลับดีขึ้น เมื่อผู้ป่วยที่ได้รับ CoQ10 ทุกวันๆ ละ 100 มิลลิกรัม ในขณะที่ผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอกกลับมีอาการแย่ลง
นอกจากนี้ผลของการลดการสะสมของคอเลสเตอรอลในหลอดเลือด ยังช่วยลดแรงต้านทานของผนังหลอดเลือด ทำให้ประสิทธิภาพในการสูบฉีดเลือดของหัวใจดีขึ้น จึงมีรายงานการศึกษาที่พบว่าการได้รับ CoQ10 ช่วยลดระดับความดันโลหิตลงได้ เช่น จากการศึกษาของ Rosenfeldt F และคณะ (2003) พบว่าการให้ CoQ10 เป็นระยะเวลา 3 เดือนสามารถลดความดันบน ได้ 16 mmHg และความดันล่างได้ 10 mmHg เป็นต้น
จากหลักฐานดังกล่าวเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า CoQ10 ช่วยให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานได้ดียิ่งขึ้น ถ้าร่างกายขาด CoQ10 กล้ามเนื้อหัวใจจะอ่อนแรงลงและทำงานได้ไม่ดี ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีการใช้ CoQ10 ในการดูแลสุขภาพของหัวใจอย่างกว้างขวาง แพทย์บางท่านยังจ่าย CoQ10 เสริมการรักษาให้กับคนไข้โรคหัวใจในบางกรณี และในญี่ปุ่น 10% ของคนญี่ปุ่นมีการรับประทาน CoQ10 เป็นประจำ
ประโยชน์ด้านอื่นของ Co-Enzyme Q10
นอกจากมีประโยชน์ต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดแล้ว CoQ10 ยังช่วยลดผลข้างเคียงจากการใช้ยาลดไขมันคอเลสเตอรอลกลุ่มสแตตินชะลอความ เสื่อมของร่างกาย ป้องกันภาวะอัลไซเมอร์ ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานได้ดีขึ้น อาจช่วยลดอาการเหนื่อย อ่อนเพลียเรื้อรัง ลดภาวะเหงือกอักเสบ ป้องกันอันตรายที่เกิดจากรังสียูวี และชะลอการเกิดริ้วรอยของผิวเราได้อีกด้วย
Co-Enzyme Q 10 ได้จากแหล่งอาหารอะไรบ้าง
เราสามารถพบ CoQ10 ได้ในอาหารประเภทเนื้อสัตว์ เช่น ปลาซาร์ดีน ปลาแซลมอน เครื่องในสัตว์ ไข่ ถั่วเปลือกแข็ง ข้าวกล้อง รำข้าวและงา เป็นต้น แต่ในระหว่างการปิ้ง ย่าง ทอดอาหารด้วยอุณหภูมิสูง จะทำให้ CoQ10 บางส่วนถูกทำลาย และในการรับประทานอาหารตามปกติร่างกายจะได้รับ Co-Enzyme Q10 ประมาณ 3-5 กรัมต่อวัน ส่วนที่เหลือร่างกายจึงต้องผลิตเอง โดยทั่วไปร่างกายมนุษย์สามารถผลิต CoQ10 ได้สูงสุดเมื่ออายุ 20 ปี หลังจากนั้นปริมาณจะลดลง โดยเมื่ออายุ 40 ปีจะเหลือ 64% อายุ 80 ปีจะเหลือ 36% ดังนั้นในบางกรณีโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้สูงอายุ การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเสริม CoQ10 ให้กับร่างกาย
ขนาดการรับประทานที่แนะนำ
50–300 mg โดยอาจแบ่งให้วันละ 2- 3 ครั้ง และเนื่องจาก CoQ10 มีคุณสมบัติละลายในน้ำมันได้ดี จึงแนะนำให้รับประทานพร้อมอาหาร
CoQ10 ที่อยู่ในรูปของอีมัลชันในแคปซูลนิ่ม จะดูดซึมได้ดีกว่ารูปแบบผงที่อยู่ในรูปแบบแคปซูล
CoQ10 ที่จำหน่ายในรูปแบบของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมี 3 รูปแบบ คือ Ubiquinone ( Oxidized Form ), Semiquinone ( Partially Reduced Form ) และ Ubiquinol ( Reduced Form ) โดยรูปแบบที่ร่างกายดูดซึมได้ดีที่สุดได้แก่ Ubiquinol รองลงมาคือ Semiquinone และ Ubiquinol ตามลำดับ
บรรณานุกรม
1.Earl L. Mindell,Virginia Hopkins. Prescription Alternatives.McGraw-Hill 4 th ed.2009.
2.Dr.Sarah Brewer.The Essentiale Guide to Vitamins,Minerals and Herbal Supplements. Right Way 2010.
3.Phyllis A.Balch.Prescription fpr Nutritional Healing.4tk ed AVERY 2006.
4.ผศ.ภก.วีระพล ภิมาลย์.ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ใน แนวทางการจ่ายยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพในร้านยา. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม .พิมพ์ครั้งที่4 2558
5.ช่อทิพยวรรณ พันธุ์แก้ว ปรัชญาจันทร์ทิพย์ ศรีไพร เย็นแย้ม . อาหารเสริมและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ.สำนักพิมพ์ต้นธรรม พิมพ์ครั้งที่ 1 2550
You must be logged in to post a comment.