สารอาหารบำรุงสายตา

By: | Tags: | Comments: 0 | กุมภาพันธ์ 29th, 2016

ต้องยอมรับว่าปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามามีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของเรามากขึ้นในแต่ละวันหลายคนต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงในการท่องโลกออนไลน์ในสารพัดรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นอินเตอร์เน็ทไลน์ เฟซบุ๊ค

ทั้งเพื่อวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการทำงาน หรือเพื่อความบันเทิงส่วนตัวผ่านหน้าจอมือถือ Tablet และคอมพิวเตอร์พฤติกรรมเหล่านี้ส่งผลให้เกิดความอ่อนล้าของกล้ามเนื้อดวงตา ทำให้มีอาการตาพร่ามัวตาแห้ง แสบตา และอาจนำไปสู่ภาวะของ Computer Vision Syndrome รวมทั้งจอประสาทตาเสื่อมได้

ดังนั้นหากเราต้องการมีสุขภาพดวงตาที่ดี เราจำเป็นต้องหันมาใส่ใจดูแลดวงตาอย่างเหมาะสมเพื่อเป็นการรักษาดวงตาให้อยู่กับเราไปนานๆ ซึ่งการรับประทานสารต้านอนุมูลอิสระก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะมีส่วนช่วยในการชะลอความเสื่อมของดวงตาได้ โดยสารต้านอนุมูลอิสระที่มีคุณสมบัติช่วยปกป้องและชะลอความเสื่อมของดวงตาได้แก่

– บิลเบอร์รี่ (Bilberry) ผลไม้ที่อุดมด้วยแอนโทไซยานิน ซึ่งเป็นสารสีน้ำเงินที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีคุณสมบัติทำให้ผนัง

หลอดเลือดโดยเฉพาะหลอดเลือดเล็กๆ ที่บริเวณดวงตาแข็งแรง เพิ่มการไหลเวียนภายในหลอดเลือดทำให้มีการลำเลียงเลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงดวงตาได้ดีขึ้น ช่วยในการสร้าง Rhodopsinซึ่งเป็นสารสีที่พบในเซลล์รูปแท่งของเรตินา ที่ช่วยตาปรับการมองเห็นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของแสง การรับประทานบิลเบอร์รี่จะส่งผลให้ความคมชัดในการมองเห็นในที่มืดดีขึ้นและตาปรับความคมชัดในการมองเห็นเมื่อตาโดนแสงจ้าได้เร็วขึ้นด้วย สารแทนนินที่พบในบิลเบอร์รี่ยังช่วยลดอาการอักเสบ และฝาดสมาน ลดความเครียดที่เกิดขึ้นที่บริเวณดวงตา นอกจากนี้บิลเบอร์รี่ยังมีเควอซิทินซึ่งอาจช่วยป้องกันต้อกระจกจากเบาหวาน

– ลูทีน ( Lutein ) และ ซีแซนทีน (Zeaxanthin) เป็นสารในกลุ่มคาโรทีนอยด์ แหล่งที่พบลูทีนและซีแซนทีนในธรรมชาติจะพบมากในดอกดาวเรืองและโกจิเบอร์รี่(เก๋ากี้ ) กะหล่ำ ผักโขม ถั่วลันเตา ผักกาด ต้นอ่อนกะหล่ำดาว ถั่วพิสตาชิโอบรอกโคลี ข้าวโพด ไข่ และแครอท

ทั้งลูทีนและซีแซนทีนจะพบเป็นส่วนประกอบของเม็ดสีมาคูลาร์บริเวณจุดศูนย์กลางของเรตินาซึ่งมีหน้าที่ช่วยปกป้องเรตินาไม่ให้ถูกทำลายจากปฏิกิริยาออกซิเดชั่นที่มาจากแสง การศึกษาทางระบาดวิทยาพบหลักฐานว่าลูทีนและซีแซนทีนช่วยชะลอโรคจอประสาทตาเสื่อม (Age-RelatedMacular Degeneration: AMD) ปัจจุบันสำนักงานอาหารและยาสหรัฐอเมริกาจึงให้การรับรองผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลูทีนและซีแซนทีนในการลดความเสี่ยงของการเกิดความเสื่อมของตาอันมีสาเหตุมาจากอายุที่เพิ่มขึ้น

– เบต้าแคโรทีน (Beta-Carotene) เป็นสารอาหารธรรมชาติที่พบมากในแครอทฟักทอง ร่างกายจะเปลี่ยนเบต้าแคโรทีนเป็นวิตามินเอ ซึ่งจะช่วยการมองเห็นในที่มืดป้องกันโรคตาบอดตอนกลางคืนและยังเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยบำรุงดวงตา และป้องกันโรคตาหลายชนิด เช่นต้อกระจก รวมถึงช่วยให้ผิวเยื่อเมือกในตาชุ่มชื่นขึ้นอีกด้วย

– แอสต้าแซนธิน (Astaxanthin) เป็นคาโรทีนอยด์สีแดงที่พบในสาหร่ายสีแดง Microalgae Haematococcus Pluvialis และเป็นสาเหตุของสีแดงในเนื้อสัตว์ทะเลบางชนิดเช่น ปลาแซลมอน ไข่ปลาคาเวียร์ เปลือกกุ้ง เปลือกปู มีประสิทธิภาพในการต่อต้านอนุมูลอิสระมากกว่าวิตามินซีถึง 6,000 เท่า มากกว่า CoQ10 800 เท่า, วิตามินอี550 เท่า, Green Tea Catechins 550 เท่า,Alpha Lipoic acid 75 เท่า,เบต้าแคโรทีน 40เท่า และสารสกัดจากเมล็ดองุ่นถึง 17 เท่า จากการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับคุณประโยชน์ของสารแอสต้าแซนธินพบว่าสารตัวนี้จะมีคุณสมบัติช่วยลดอาการเมื่อยล้ากล้ามเนื้อสายตาจากการต้องจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆหรือ มีคุณสมบัติในการปรับกล้ามเนื้อเลนส์ตาทำให้การมองเห็นภาพชัดเจนขึ้น โดยจากการศึกษาทางคลินิกในกลุ่มตัวอย่างของผู้ที่มีอาการสายตาล้าในประเทศญี่ปุ่นโดยให้ทานแอสต้าแซนทธิน 5 มิลลิกรัมทุกวันเป็นเวลาติดต่อกันนาน1 เดือน ผลการศึกษาแสดงให้เห็นชัดเจนว่ามีอาการดีขึ้นถึง54% โดยไม่เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย

– วิตามินอี(Vitamin E) เป็นวิตามินที่ละลายในไขมันซึ่งมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ พบมากในจมูกข้าวสาลี น้ำมันพืช เมล็ดทานตะวัน เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ไข่ กะหล่ำปลี กะหล่ำดาว ผักใบเขียว ผักขมปวยเล้ง เป็นต้น การศึกษาในสเปนได้เปรียบเทียบผู้ป่วยจอประสาทตาเสื่อมจำนวน 25 คนกับผู้ที่ไม่มีอาการจอประสาทตาเสื่อมจำนวน 15 คนพบว่าผู้ที่มีอาการจอประสาทตาเสื่อมจะมีระดับของสังกะสีและวิตามินอีในเลือดต่ำกว่า และระดับวิตามินอีในเลือดยิ่งน้อยเท่าไหร่ความรุนแรงของอาการจอประสาทตาเสื่อมก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น นอกจากนี้ผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรคตาที่สัมพันธ์กับอายุ(Age-Related Eye Diseases Study) ของสถาบันจักษุแห่งชาติสหรัฐอเมริกายังพบว่าการรับประทานวิตามินอี ในปริมาณสูงร่วมกับสารต้านอนุมูลอิสระอื่นๆ จะช่วยลดความเสี่ยงที่โรคจะดำเนินไปสู่ระยะรุนแรง จนทำให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นในคนไข้จอประสาทตาเสื่อมที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงได้

อย่างไรก็ดีนอกจากการบำรุงสายตาจากภายในด้วยการรับประทานสารต้านอนุมูลอิสระทั้งในรูปแบบอาหารตามธรรมชาติหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแล้ว การปรับพฤติกรรมในการทำงานหรือการทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ต้องใช้สายตาให้เหมาะสมก็จะช่วยป้องกันอันตรายที่จะมารบกวนสายตาจากภายนอกซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำควบคู่กันไปเพื่อช่วยถนอมและรักษาดวงตาให้อยู่กับเราไปได้อีกนานเท่านาน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก HealthToday Thailand