ความดันโลหิตสูง ภัยเงียบที่ต้องระวัง
ความดันโลหิตสูง หมายถึง การที่มีแรงดันบนหลอดเลือดแดงมากกว่าปกติ โดยปกติค่าความดันโลหิต จะประกอบด้วย ความดันตัวบน เรียกว่า ความดันซิสโตลิค (Systolic Pressure) ซึ่งเป็นตัวเลขที่บอกความดันบนหลอดเลือดแดงเมื่อหัวใจบีบตัวเพื่อฉีดเลือดออกจากหัวใจผ่านไปตามหลอดเลือด และความดันตัวล่าง เรียกว่า ความดันไดแอสโตลิค (Diastolic Pressure) เป็นความดันบนหลอดเลือดแดงเมื่อหัวใจมีการคลายจากการบีบรัด
ตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกได้กำหนดเกณฑ์การวินิจฉัยความดันโลหิตสูงไว้ว่า“ความดันโลหิตสูง” คือ สภาวะที่ค่าของความดันเลือดที่วัดอย่างถูกต้อง และมีการตรวจวัดหลายๆ ครั้ง ในต่างวาระกันแล้ว พบว่ามีระดับของความดันโลหิตสูงกว่า 140/90 มม.ปรอท
เราแบ่งระดับความรุนแรง ของภาวะความดันโลหิตสูงไว้ ดังนี้
ความดันโลหิต ความดันตัวบน(มม.ปรอท) ความดันตัวล่าง(มม.ปรอท)
ระดับ 1 ความดันโลหิตสูงอย่างอ่อน 140-159 90-99
ระดับ 2 ความดันโลหิตสูงปานกลาง 160-179 100-109
ระดับ 3 ความดันโลหิตสูงรุนแรง >180 >109
ความดันโลหิตสูงเฉพาะตัวบน >140 <90
อาการเตือนของโรคความดันโลหิตสูง
ภาวะความดันโลหิตสูงส่วนมากจะไม่แสดงอาการเตือน แต่มักตรวจพบโดยบังเอิญ ขณะไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาจากปัญหาอื่น มีบางรายที่อาจมีอาการเตือน เช่น ปวดมึนท้ายทอย วิงเวียน ปวดศีรษะตุบๆ หากเป็นมานานหรือความดันโลหิตสูงมากๆอาจมีอาการเลือดกำเดาไหล ตามัว ใจสั่น มือเท้าชา เมื่อเกิดอาการผิดปกติ จึงควรรีบไปพบแพทย์เพื่อจะได้รับการรักษาได้ถูกต้องและทันท่วงที
ปัจจัยเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง สามารถแบ่งได้ดังนี้
1. ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง คือกรรมพันธุ์ ,อายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป ซึ่งปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ปรับเปลี่ยนไม่ได้
2. ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถปรับเปลี่ยนได้คือ พฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มีรสเค็ม หวาน มัน รับประทานผักและผลไม้น้อย,การขาดการออกกำลังกาย,ความเครียดเรื้อรัง, สูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวส่งผลให้เกิดน้ำหนักเกิน, อ้วน,ความผิดปกติของไขมันในเลือด, ภาวะเบาหวาน,ถ้าลดปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ลงมีผลในการป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดและโรคเบาหวาน ได้ถึงร้อยละ 80
ความดันโลหิต “ภัยเงียบ” ของการเกิดโรคหลอดเลือด
โรคความดันโลหิตสูงถูกขนานนามว่าเป็น “ภัยเงียบ” เพราะเวลาที่เป็นโรคนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นโดยไม่รู้ตัว หรือเป็นโรคความดันโลหิตสูงโดยไม่มีอาการใดๆ เลย อาจจะมีบ้างที่มีอาการปวดหัว หรือปวดท้ายทอยตอนตื่นนอน เป็นเพียงบางครั้งบางคราวเท่านั้นถ้าไม่สามารถควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในช่วงปกติได้ ก็จะส่งผลกระทบซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ 2 กรณีด้วยกันคือ
• กรณีที่ 1 ภาวะแทรกซ้อนจากความดันโลหิตสูงโดยตรง ได้แก่ภาวะหัวใจวายหรือหลอดเลือดในสมองแตก
• กรณีที่ 2 ภาวะแทรกซ้อนจากหลอดเลือดแดงตีบหรือตัน เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือเรื้อรัง
ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจจะทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ หลอดเลือดสมองตีบ เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือหลอดเลือดแดงในไตตีบมากถึงขั้นไตวายเรื้อรังได้ หรือหลอดเลือดแดงในตาจะเสื่อมลงอย่างช้าๆ อาจมีเลือดที่จอตา ทำให้ประสาทตาเสื่อม ตามัวลงเรื่อยๆ จนตาบอดได้
จากข้อมูลทางการแพทย์ระบุไว้ว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงและไม่ได้รับการรักษาจะเสียชีวิตจากหัวใจวายถึง 60-75 % , เสียชีวิตจากเส้นเลือดในสมองอุดตัดหรือแตก 20-30 % และเสียชีวิตจากไตวายเรื้อรัง 5-10 % เกินกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคนี้
ความที่โรคนี้เมื่อเป็นแล้วผู้ป่วยยังไม่รู้ตัว หรือไม่มีอาการแสดงออกมาอย่างเด่นชัด จึงพบว่ามีผู้ป่วยจำนวนมากที่เป็นโรคนี้โดยไม่รุ้ตัว ซึ่งเคยมีงานวิจัยสำรวจพบว่า ในจำนวนผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงทั้งหมด มีผู้ป่วยกว่าครึ่งที่เป็นโรคนี้โดยไม่รู้ตัว เมื่อไม่รู้ตัวก็ไม่ได้รับการรักษา มารู้ตัวอีกทีก็มีความผิดปกติแล้ว เช่น หลอดเลือดในสมองแตก เป็นอัมพาต อัมพฤกษ์ ดังนั้นผู้ที่อายุมากกว่า 35 ปี และกลุ่มเสี่ยงที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้นจึงควรได้รับการตรวจคัดกรองโรคอย่างสม่ำเสมอ ปีละ 1-2 ครั้ง รวมทั้งต้องรู้จักการปฏิบัติตนเพื่อป้องกันโรคความดันโลหิตสูง ดังนี้
• ใช้ชีวิตกระฉับกระเฉงอย่างสม่ำเสมอ การมีกิจกรรมทางการอย่างสม่ำเสมอกระฉับกระเฉง นั้นสามารถช่วยป้องกันการเกิดโรคความดันโลหิตสูง เริ่มต้นได้ตั้งแต่กิจกรรมเบาๆ ไปจนถึงกิจกรรมปานกลาง เช่น การทำสวน การเดินทำงานบ้าน การวิ่ง การว่ายน้ำ การออกกำลังกาย เป็นต้น
• เพิ่มการรับประทานผักและผลไม้(รสหวานน้อย) การบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพจะส่งผลดีต่อร่างกาย เริ่มด้วยการเพิ่มการรับประทานผักและผลไม้(รสหวานน้อย) โดยทานผลไม้ที่หวานน้อยหรือธัญพืช แทนของว่าง ขนมกรุบกรอบ ควรทานผักผลไม้(รสหวานน้อย)ที่หลากสีทุกวัน และควรทานอาหารมังสวิรัติอย่างน้อยสัปดาห์ละมื้อ
• ลดการรับประทานอาหารผ่านกระบวนการ อาหารสำเร็จรูป อาหารหมักดอง ลดอาหารที่มีไขมัน น้ำตาล หรือ เกลือ สูง ซึ่งมักพบได้ในอาหารจานด่วน อาหารขยะ อาหารสำเร็จรูป อาหารกึ่งสำเร็จรูป และอาหารตามร้านค้าต่างๆ สำหรับการปรุงอาหารทานเองที่บ้านควรลด/จำกัดการใช้เครื่องปรุง(หวาน มัน เค็ม) ลง และบนโต๊ะอาหารไม่ควรวางเครื่องปรุงรสไว้
• จำกัดการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ลดการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ผสมลงให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม (ชายดื่มวันละไม่เกิน 2 แก้ว ส่วนหญิงดื่มวันละไม่เกิน 1 แก้ว) หรืองดดื่ม
• งดสูบบุหรี่ รวมถึงหลีกเลี่ยงการสูดดมควันบุหรี่ (Stop Smoking) การสูบบุหรี่และการรับควันบุหรี่เป็นสาเหตุหลักของการตายและความพิการจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
แม้ว่าจะได้ชื่อว่าเป็น “ภัยเงียบ” แต่หากเรารู้จักเฝ้าระวังด้วยการหมั่นตรวจเช็คความดันโลหิตของตนเองหรือคนที่คุณรักอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งหมั่นปฏิบัติและดูแลตนเองที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นอย่างสม่ำเสมอ สิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นเหมือน “สัญญาณชีวิต” ที่จะคอยเตือนและกันให้เราห่างไกลจากโรคความดันความโลหิตสูง และเมื่อถึงเวลานั้นโรคความดันโลหิตสูงก็จะมิใช่ “ภัยเงียบ” ที่จะสามารถมาคุกคามสุขภาพของเราได้อีกต่อไป
You must be logged in to post a comment.