ฮอร์โมนทดแทน…เสี่ยงมะเร็งเต้านมจริงหรือ?

By: | Tags: | Comments: 0 | สิงหาคม 2nd, 2014

         ผู้หญิงส่วนใหญ่เมื่อเข้าสู่วัยทอง มักต้องพึ่งพาฮอร์โมนทดแทนเพื่อบำบัดอาการอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของ ฮอร์โมนภายในร่างกาย ซึ่งการรับประทานฮอร์โมนไปนานๆ หลายท่านเริ่มกังวลว่าจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมหรือไม่
         ฮอร์โมนทดแทนทำหน้าที่เป็นตัวแทนของฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งจะหมดไปตามธรรมชาติ พร้อมๆกับการสิ้นสุดการมีประจำเดือนอย่างถาวร เอสโตรเจนหรือฮอร์โมนเพศหญิงมีผลทำให้ระบบร่างกายมีความสมดุลกันทั้งระบบ สมอง หัวใจ กระดูก ผิวพรรณ ระบบสืบพันธุ์ ตลอดจนภาวะอารมณ์ การเสริมฮอร์โมนทดแทนจึงช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคอัลไซเมอร์ หัวใจ กระดูกพรุน มะเร็งลำไส้ คืนความเปล่งปลั่งสดใสให้กับผิวพรรณ จึงช่วยให้คุณสุภาพสตรีมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

         ส่วนสาเหตุของการเกิดมะเร็งเต้านมนั้นยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงสำคัญเรียงตามลำดับจากมากไปน้อย ได้แก่ กรรมพันธุ์ อายุ การสูบบุหรี่จัด การมีลูกช้า ประจำเดือนหมดช้า (อายุ 55 ปีขึ้นไปแต่ยังคงมีประจำเดือน) ผู้ที่เป็นโรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ขณะที่การใช้ฮอร์โมนอาจพบได้บ้างแต่ในอัตราที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับปัจจัย ที่กล่าวมา และต้องใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานอย่างน้อย 5 ปีขึ้นไป ซึ่งสามารถดูแลได้โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาการใช้อย่างเหมาะสม

 

         อย่างไรก็ตามเนื่องจากมะเร็งเต้านมเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนั้นเพื่อความไม่ประมาท คุณสุภาพสตรีควรรู้จักวิธีการตรวจเต้านมด้วยตนเอง   ส่วนการตรวจมะเร็งเต้านมครั้งแรกควรเริ่มที่อายุ 35 ปี และควรตรวจต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีเมื่อมีอายุ 40 ปีขึ้นไป การตรวจมะเร็งเต้านมด้วยวิธีที่แม่นยำ ได้แก่ การตรวจดิจิตอลแมมโมแกรม ร่วมกับ อัลตราซาวนด์  จะสามารถตรวจพบรอยโรคของมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกที่การตรวจทั่วไปอาจตรวจไม่พบ ทำให้การรักษามะเร็งเต้านมง่ายขึ้น และมีโอกาสหายเป็นปกติได้โดยไม่ต้องสูญเสียเต้านม