ใช้เจลประคบร้อนเย็นอย่างไรดีให้ถูกต้อง?
ใช้เจลประคบร้อนเย็นอย่างไรดีให้ถูกต้อง?
เราคงทราบดีกันอยู่แล้วว่าในขณะที่กำลังดำเนินกิจวัตรประจำวัน หรือออกกำลังกาย เล่นกีฬา แล้วได้รับบาดเจ็บ ฟกช้ำ บวม ข้อเท้าแพลง หรือมีบาดแผลฉีกขาด มีเลือดออก เจลประคบร้อนเย็นจะมีประโยชน์ในการบรรเทาอาการปวดบวม หรืออักเสบ แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องใช้จริงๆ หลายๆท่านก็ยังสับสนว่าจะเลือกใช้เจลเพื่อประคบร้อนหรือเย็นดี การรักษาบรรเทาอาการจึงจะได้ผลเต็มประสิทธิภาพ
ก่อนอื่นเราคงต้องมาทำความเข้าใจหลักการก่อนว่า การประคบร้อนหรือเย็นมีผลต่างกันอย่างไร การประคบเย็นความเย็นจะช่วยทำให้เส้นเลือดหดตัว ทำให้เลือดออกน้อยลง ทั้งเลือดที่ออกนอกร่างกายให้เห็นได้ และเลือดที่ออกนอกเส้นเลือดในร่างกาย ดังนั้น อาการบวมก็จะน้อย มีการดูดซึมน้ำกลับเข้าหลอดเลือดช่วยให้ยุบบวม จึงช่วยลดการบาดเจ็บ การอักเสบ นอกจากนี้ ความเย็นยังช่วยลดการนำกระแสประสาทที่รับความรู้สึกเจ็บปวด ทำให้บรรเทาอาการปวดได้ ในขณะที่ประคบร้อน ความร้อนจะช่วยให้เส้นเลือดขยายตัว ทำให้เพิ่มการไหลเวียนของเลือด เพิ่มเลือดมาเลี้ยงบริเวณนั้นเพิ่มขึ้น จะช่วยนำออกซิเจนและเม็ดเลือดขาว มาช่วยซ่อมแซมเนื้อเยื่อ และดูดกลับของเสียได้เร็วขึ้น การซ่อมแซมการบาดเจ็บดีขึ้น กล้ามเนื้อคลายตัว และช่วยบรรเทาอาการปวด ช่วยลดการสร้างพังผืดทำให้แผลหายเร็วขึ้น
ประคบเย็น เมื่อใด?
เมื่อต้องการบรรเทาอาการปวด อาการอักเสบในระยะเฉียบพลัน ในช่วง 24 – 48 ชั่วโมงแรกหลังได้รับบาดเจ็บ ลดปวดแสบร้อน ลดบวม เช่น ปวดศีรษะหรือมีไข้สูง,ปวดเมื่อยตามร่างกาย,ปวดฟัน,แผลน้ำร้อนหรือไฟลวกที่ไม่รุนแรง,ข้อเคล็ด,บาดเจ็บหลังการเล่นกีฬา,แมลงสัตว์กัดต่อย,เลือดกำเดาไหล,มีดบาด,แผลหลังผ่าตัด,หลังถอนฟัน,ถูกแดดเผา,ตาบวม,อาการก่อนรูมาติซึม,ก่อนเป็นไมเกรน และยังใช้เพื่อทำให้สดชื่น ผ่อนคลายความเครียด
วิธีประคบเย็น นำถุงเจลสำหรับประคบร้อนเย็น ( cold-hot pack) ที่แช่ในตู้เย็นหรือช่องแช่แข็ง กดประคบบริเวณที่บาดเจ็บ ครั้งละ 15 – 20 นาที (ไม่ควรใช้เวลานานกว่านี้ และไม่วางที่เดียวนานเกินไป จะเป็นอันตรายต่อเนื้อเยื่อได้) ทำซ้ำทุกๆ 2 ชั่วโมง ใน 24 ชั่วโมงแรก หรือทำซ้ำเมื่อผิวหนังกลับสู่อุณหภูมิปกติ หลังจากนั้นประคบห่างลง เป็น 3 – 4 ครั้งต่อวัน ในวันที่ 2 ควรให้บริเวณบาดเจ็บอยู่นิ่งๆ และยกสูงกว่าระดับหัวใจ ไม่ควรนวด คลึง บริเวณที่บาดเจ็บ เพราะจะยิ่งทำให้มีเลือดออก และบวมมากขึ้น การประคบเย็น ต้องระมัดระวัง อย่าให้น้ำแข็งกระทบผิวหนังโดยตรงโดยควรสวมปลอกผ้าที่มักมีให้มากับอุปกรณ์ หรืออาจใช้ผ้าขนหนูพันหุ้ม หรือไม่ควรใช้ความเย็นจัดนานจนเกินไป ทำเช่นนี้ประมาณ 48-72ชั่วโมง เช่นหลังการผ่าตัดหรือการถอนฟันประคบเย็นก่อนเพื่อลดอาการปวดบวม หลังจากนั้น 2-3วัน(ตามแพทย์สั่ง) จึงค่อยประคบร้อนเพื่อลดรอยฟกช้ำ
ข้อควรระวังในการประคบเย็น
1.ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติในการรับความรู้สึก
2.บริเวณที่เลือดไปเลี้ยงไม่พอเพียง
3.ผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการสื่อสาร
4.ผู้ป่วยที่มีปฏิกิริยาต่อความเย็น เช่น มีเม็ดเลือดแตก แพ้ความเย็น ทนความเย็นไม่ได้ เส้นประสาทอักเสบ จากความเย็น เป็นต้น
ประคบร้อน เมื่อใด?
เริ่มใช้หลังจากมีอาการผ่านไปแล้ว 48 ชั่วโมง เพื่อลดอาการปวดและผ่อนคลายกล้ามเนื้อ อาการที่ควรประคบร้อน เช่น ปวดตึงของกล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า หลัง น่อง ปวดประจำเดือน ปวดข้อ ปวดฟัน เต้านมคัดตึงในสตรีให้นมบุตร คัดจมูก เมื่อยล้าสายตา อาการไม่สบายผิวเนื่องจากการแพ้ ใต้ตาคล้ำ อาการหลังรูมาติซึม และตากุ้งยิง
วิธีประคบร้อน เริ่มใช้หลังจากมีอาการผ่านไปแล้ว 48 ชั่วโมง ใช้เจลประคบร้อนที่ทำให้ร้อนแล้ว สวมด้วยปลอกผ้าที่มีมากับอุปกรณ์ หรือใช้ผ้าขนหนูพัน ทดสอบอุณหภูมิที่จะประคบไม่ให้ร้อนเกินไป วางเจลประคบ บริเวณที่มีอาการ ประมาณ 15-20 นาที โดยขยับเปลี่ยนบริเวณที่วางบ่อยๆ วันละ 2-3 ครั้ง
ข้อควรระวังในการประคบร้อน
1.ห้ามประคบร้อนในบริเวณที่มีการบาดเจ็บหรืออักเสบเฉียบพลัน โดยเฉพาะใน 24 ชั่วโมงแรก
2.ผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติ
3.บริเวณที่มีปัญหาอาการชา หรือขาดเลือดไปเลี้ยง
4.บริเวณที่อยู่ใกล้ก้อนเนื้องอกหรือเป็นมะเร็ง
5.ผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีปัญหาด้านการสื่อสาร
6.ความร้อนที่มากเกินไป อาจทำให้เกิดรอยดำไหม้หรือแผลพุพองได้
7.บริเวณที่มีแผลเปิด มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
จะเห็นได้ว่า การใช้เจลประคบร้อน หรือประคบเย็น มีประโยชน์ทั้งสองอย่าง เราจึงควรเลือกใช้ให้ถูกกับเวลาและสาเหตุที่เป็น ก็จะช่วยบรรเทาความเจ็บปวด ลดอาการอักเสบลงได้มาก
You must be logged in to post a comment.