ข้อเข่าเสื่อม (Knee Osteoarthritis)
ก่อนอื่นเราต้องมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างของข้อเข่ากันก่อน ข้อเข่าประกอบไปด้วยกระดูกสำคัญ ๆ 3 ส่วนนั่นก็คือ กระดูกต้นขา( Femur ) ซึ่งเป็นกระดูกส่วนบนของเข่า ส่วนที่สองเป็นกระดูกหน้าแข้ง ( Tibia )ซึ่งเป็นกระดูกส่วนล่างของหัวเข่า และส่วนสุดท้ายก็คือกระดูกลูกสะบ้า( Patella )ซึ่งเป็นกระดูกที่อยู่ด้านหน้า โดยในส่วนบริเวณข้อเข่านั้นจะมีกระดูกอ่อน(Cartilage) อยู่เป็นรูปครึ่งวงกลม กระดูกชิ้นนี้นี่เองที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะทำหน้าที่กระจายน้ำหนักเพื่อไม่ให้กระดูกรับน้ำหนักมากเกินไป ในข้อเข่าของเรานั้นยังมีน้ำที่หล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อรอบ ๆ เข่า ซึ่งมีส่วนช่วยในการป้องกันการสึกหรอ เวลาที่เราขยับ กระโดด วิ่ง หรือแม้กระทั่งเดินเฉย ๆ ก็ตาม ข้อเข่าที่ปกติและมีสภาพที่ดี ต้องมีคุณสมบัติ เป็นข้อที่เคลื่อนไหวได้ดี ไม่ทำให้ปวด และมีความมั่นคงในการใช้งาน
ข้อเข่าเสื่อม เป็นรอยโรคที่เกิดจากการเสื่อมสภาพของกระดูกอ่อนข้อต่อ อันเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีและทางเมคานิคของข้อที่ทำให้เซลล์กระดูกอ่อนเริ่มมีการเสื่อมเร็วกว่าปกติและมีจำนวนลดลง มีการสร้างเนื้อกระดูกอ่อนน้อยกว่าการสึกหรอ ทั้งนี้โดยอาจมีปัจจัยต่างๆ เช่น อายุที่มากขึ้น การรับน้ำหนักตัวที่มากเกินไปบนกระดูกอ่อน การใช้เข่าที่ไม่เหมาะสม การเกิดอุบัติเหตุ หรือโรคของข้อ เช่น รูมาตอยด์ หรือเก๊าท์ เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในข้อเข่า เริ่มจากการสูญเสียกระดูกอ่อนผิวข้อ ทำให้ข้อแคบลง กระดูกบริเวณฐานข้อมักหนาขึ้น และเกิดกระดูกงอก ( Bone spurs ) บริเวณรอบข้อ มีการสูญเสียคุณสมบัติของน้ำหล่อเลี้ยงเข่า เมื่อมีการเคลื่อนไหวของเข่าก็จะเกิดการเสียดสีและเกิดการสึกหรอของกระดูกอ่อน ผิวของกระดูกอ่อนจะแข็งผิวไม่เรียบ เมื่อเคลื่อนไหวข้อเข่าก็จะเกิดเสียงดังในข้อ ทำให้มีอาการเจ็บปวด บวม อักเสบ และหลังเกิดการเปลี่ยนแปลงของผิวข้อแล้วข้อเข่าอาจเกิดความไม่มั่นคง ทำให้เกิดความผิดรูปร่างของข้อเข่า เช่น ขาโก่ง
อาการที่สำคัญ เราสามารถทราบว่าอาการปวดเข่าเกิดจากข้อเสื่อมได้ด้วยการตรวจประเมินตามเกณฑ์ดังนี้
• อาการปวดเข่า เป็นอาการที่สำคัญเริ่มแรกจะปวดเมื่อยตึงทั้งด้านหน้าและด้านหลังของเข่า หรือบริเวณน่อง เมื่อเป็นมากขึ้นจะปวดบริเวณเข่าเมื่อมีการเคลื่อนไหว ลุกนั่งหรือเดินขึ้นบันไดไม่คล่องเหมือนเดิม
• มีเสียงในข้อ เวลาขยับเข่าใช้ฝ่ามือวางบนเข่าจะรู้สึกมีเสียงดังกรอบแกรบในข้อ
• ข้อเข่ายึดติด ฝืดตึง พบได้บ่อยในช่วงเช้าหรือเมื่อวางขาในท่าเดิมๆโดยไม่ขยับ ผู้ป่วยจะไม่สามารถเหยียดหรืองอขาได้สุดเหมือนเดิมเนื่องจากมีการยึดติดภายในข้อ มักเป็นไม่นานเกินกว่า 30 นาที
• อาการบวม ถ้าข้อมีการอักเสบก็จะเกิดข้อบวม
• ผู้ที่เป็นมานานจะพบข้อผิดรูปมีข้อบวมใหญ่ เนื่องจากการหนาตัวของเยื่อบุข้อเข่า และกระดูกงอกหนาขึ้น ข้อเข่าโก่งงอ อาจจะโก่งด้านนอกหรือโก่งด้านใน ทำให้ขาสั้นลงเดินลำบากและมีอาการปวดเวลาเดิน
มีวิธีการรักษาอย่างไร และสามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่
ปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมอาการได้โดยจุดมุ่งหมายในการรักษาคือ ช่วยบรรเทาอาการปวด ช่วยให้หน้าที่การใช้งานของข้อ กลับคืนสู่ภาวะปกติหรือใกล้เคียงปกติมากที่สุด และป้องกันหรือแก้ไขการผิดรูปของข้อ วิธีการรักษาจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อายุ ความรุนแรงของโรค การใช้งานที่คาดหวังและความพร้อมของผู้ให้การรักษา
การรักษามีแนวทางหลัก 2 วิธี ได้แก่ การรักษาโดยวิธีการไม่ผ่าตัด และการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด
การรักษาด้วยวิธีการไม่ผ่าตัด
1. การปรับเปลี่ยนการใช้งานในชีวิตประจำวัน ได้แก่
• การพักหรือใช้งานข้อให้น้อยลง หลีกเลี่ยงการยืนหรือเดินเป็นระยะเวลานาน
• หลีกเลี่ยงการนั่งงอเข่า เช่น คุกเข่า พับเพียบ ยองๆ ขัดสมาธิ หรือนั่งเก้าอี้ต่ำ
• หลีกเลี่ยงการเดินขึ้นลงบันไดโดยไม่จำเป็น ถ้าจำเป็นควรเดินช้าๆและขึ้นลงทีละขั้น
• หลีกเลี่ยงการยืนหรือนั่งท่าเดียวนานๆ ควรเปลี่ยนท่าหรือขยับข้อเข่าอยู่เรื่อยๆ
• นั่งถ่ายบนโถนั่งชักโครก หรือใช้เก้าอี้ที่มีรูตรงกลางวางไว้เหนือคอห่านแทนการนั่งยองๆ ควรทำราวจับบริเวณโถนั่งเพื่อใช้ช่วยพยุงตัวเวลาจะนั่งหรือยืน
2. ผู้ป่วยที่มีน้ำหนักตัวมาก ควรลดน้ำหนักอย่างถูกต้อง
3. การใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงเดิน เช่น ไม้เท้า ไม้ค้ำยัน จะช่วยลดแรงที่เกิดกับข้อได้
4. ที่นอนควรมีความสูงระดับเข่า ไม่ควรนอนบนพื้นเพราะจะปวดมากเวลาจะนอนหรือลุกขึ้น
5. การประคบอุ่นบริเวณข้อเข่า ช่วยลดอาการปวดและกล้ามเนื้อเกร็งได้
6. การสวมสนับเข่า ในกรณีที่ข้อเข่าเสียความมั่นคง จะช่วยกระชับข้อและลดอาการปวด
7. การทำกายภาพบำบัด ได้แก่ การฝึกความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อรอบข้อ การเพิ่มหรือคงไว้ซึ่งพิสัยการเคลื่อนไหวของข้อ และการเพิ่มสมรรถภาพของร่างกาย
8. การใช้ยา ปัจจุบันมียาหลายกลุ่มที่ใช้รักษาโรคข้อเสื่อม ได้แก่
• ยาแก้ปวดพาราเซตามอล เป็นยากลุ่มแรกที่ใช้ในการควบคุมอาการ
• ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ช่วยลดอาการปวดและการอักเสบของข้อ
• ยาช่วยปรับเปลี่ยนโครงสร้างของข้อ เช่น กลูโคซามีนซัลเฟต จะช่วยชะลอโรค ซ่อมแซมผิวข้อ ลดการอักเสบและอาการปวด เป็นยาทางเลือกในข้อเสื่อมระยะเริ่มต้น
• การฉีดน้ำเลี้ยงไขข้อ เป็นทางเลือกในการช่วยลดอาการปวดและช่วยให้การเคลื่อนไหวข้อดีขึ้น
• การฉีดสเตียรอยด์เข้าข้อ เป็นทางเลือกในข้อเสื่อมรุนแรงที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาวิธีอื่น
การรักษาโดยการผ่าตัด การผ่าตัดในกรณีที่มีการเสื่อมรุนแรง ซึ่งมี 2 วิธีคือ
– การผ่าตัดจัดกระดูกให้ตรง
– การเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
ข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคที่ก่อให้เกิดอาการปวด อาการฝืด กล้ามเนื้อรอบเข่าลีบเล็กลง ส่งผลต่อการใช้งานข้อเข่าในชีวิตประจำวัน ทำให้การยืนเดินไม่สะดวก นั่งยองๆ หรือนั่งพับเพียบลำบาก บางคนหลีกเลี่ยงการเดินเพราะอาการปวด กลัวหกล้ม ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ที่เป็นข้อเข่าเสื่อมอย่างยิ่ง เมื่อรู้เช่นนี้แล้วอาการปวดเข่าไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยที่จะมองข้าม เราจึงควรใส่ใจและให้ความสำคัญกับดูแลรักษาหัวเข่าของเรา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิด และเพื่อให้เราสามารถเดินได้อย่างปกติไปอีกนาน
You must be logged in to post a comment.