ยาแก้ท้องเสีย ใช้ยาอย่างไรจึงจะถูกวิธี

By: | Tags: | Comments: 0 | พฤษภาคม 2nd, 2014

 

        เมื่อมีอาการอุจจาระร่วง ผลกระทบที่สำคัญคือ การเกิดภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ในช่วงแรก และภาวะขาดสารอาหารในช่วงหลัง ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยโดยเฉพาะในผู้ป่วยเด็กเกิดโรคติดเชื้อแทรกซ้อนเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้นหลักในการรักษาจึงควรแก้ไขภาวะขาดน้ำ และแก้ไขสาเหตุของการเกิดอุจจาระร่วงเฉียบพลัน

        1.การรักษาภาวะขาดน้ำ
        การให้น้ำและเกลือแร่เพื่อชดเชยส่วนที่สูญเสียไป ป้องกันและแก้ไขภาวะขาดน้ำ ในผู้ป่วยที่มีอาการเพียงเล็กน้อย ไม่รุนแรง อาจให้ดื่มน้ำเกลือแร่ โดยละลายผงน้ำตาลเกลือแร่ หรือที่เรียกกันว่า ผง ORS (Oral Rehydration Salts) ในน้ำสะอาด เช่น น้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว ดื่มแทนน้ำบ่อยๆ และคอยสังเกตดูสีปัสสาวะ หากมีสีเข้มแสดงว่ายังได้น้ำไม่เพียงพอ ต้องพยายามดื่มน้ำเกลือแร่เพิ่มอีก สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหนัก มีภาวะขาดน้ำรุนแรง โดยเฉพาะรายที่มีอาการอาหารเป็นพิษร่วมด้วย และมีอาการอาเจียนมาก กินอาหารหรือดื่มน้ำไม่ได้ แพทย์จะให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ

 

กรณีที่เป็นผู้ป่วยเด็ก จะมีวิธีการให้ดังต่อไปนี้
        • ถ้าเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ให้ดื่ม 50-100 ซีซี (1/4-1/2 แก้ว)
        • เด็กอายุ 2-10 ปี ดื่ม 100-200 ซีซี (1/2-1 แก้ว)
        • อายุ 10 ปีขึ้นไปให้ดื่มได้มากกว่า 1 แก้ว หรืออาจเตรียมสารละลายเกลือแร่ได้เอง โดยการผสมน้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ เกลือป่นครึ่งช้อนชา กับน้ำต้มสุกเย็น 750 ซีซี (1 ขวดน้ำปลากลม)
        • ประเมินเด็กทุก 4 ชั่วโมง
        • การให้ ORS ควรป้อนทีละน้อยๆ แต่บ่อยๆ ด้วยช้อนหรือจิบ โดยเฉพาะถ้าผู้ป่วยอาเจียน
        • สำหรับเด็กที่ยังกินนมแม่ ให้กินต่อไปโดยไม่ต้องหยุด ส่วนเด็กที่กินนมผสม ให้ผสมตามปกติต่ลดปริมาณที่กินต่อมื้อลงและชดเชยด้วยสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ โดยให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่สลับกันไป
        • สำหรับผู้ใหญ่ให้ ORS ในปริมาณ 1.5 เท่าของน้ำที่เสียทางอุจจาระใน 24 ชั่วโมง และไม่ต้องงดอาหารในระหว่างท้องร่วง ให้รับประทานอาหารอ่อนย่อยง่าย เช่น โจ๊ก ข้าวต้มผสมผัก ปลา เนื้อสัตว์ต้มเปื่อย
การรักษาดังกล่าว จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น แต่ถ้าผู้ป่วยอาการยังไม่ดีขึ้น เช่น ยังคงถ่ายเป็นน้ำจำนวนมาก อาเจียนบ่อย กระหายน้ำมาก ตาลึกโหล กินอาหารหรือดื่มน้ำไม่ได้ มีไข้ ถ่ายเป็นมูกมีเลือดปน ให้นำผู้ป่วยไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาล

 

        2.การรักษาสาเหตุของการเกิดอุจจาระร่วงเฉียบพลัน
        การใช้ยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะ โรคอุจจาระร่วงส่วนใหญ่หายได้เอง ถ้าให้การป้องกันและรักษาภาวะขาดน้ำและให้อาหารที่เหมาะสม การใช้ยาปฏิชีวนะ จะใช้ในกรณีที่ทราบเชื้อที่เป็นสาเหตุของท้องเสีย เช่น เชื้ออหิวาต์และเชื้อบิด  ถ่ายเป็นมูกเลือด มีไข้สูงซึ่งควรได้รับการตรวจร่างกายก่อน การใช้ยาปฏิชีวนะจะช่วยให้ระยะเวลาที่ท้องเสีย และอาการไข้สั้นลงได้  ตัวอย่างยาที่นิยมเช่น นอร์ฟลอกซาซิน(norfloxacin) , ไซโปรฟลอกซาซิน (Ciprofloxacin) ,โคไตรม็อกซาโซล (Co-trimoxazole) เป็นต้น อย่างไรก็ดีหากท้องเสียเกิดจากอาหารเป็นพิษหรือเชื้อไวรัส ยานี้จะไม่ช่วยบรรเทาอาการได้เลย

 

        3.การรักษาอื่นๆ
การใช้ยาต้านอุจจาระร่วง
        • ยาที่ลดการเคลื่อนไหวของลำไส้  เช่น โลเพอราไมด์ (loperamide) ยาจะช่วยลดปริมาณและความถี่ในการถ่ายอุจจาระ ใช้ได้ระยะสั้นๆในผู้ใหญ่กรณีที่จำเป็นต้องเดินทางไกล และไม่ควรรับประทานเกิน 1-2 เม็ดต่อวัน เนื่องจากจะทำให้ท้องอืด ปวดมวนท้อง และไม่แนะนำให้ใช้ในเด็กและผู้ที่มีอุจจาระมีมูกเลือด มีไข้สูง เพราะยาทำให้ลำไส้เคลื่อนไหวได้น้อยลง เกิดเชื้อโรคตกค้างในลำไส้ทำให้อาการรุนแรงมากขึ้น และยังอาจรบกวนประสิทธิผลของยาปฏิชีวนะในรายที่มีการติดเชื้อลำไส้อักเสบ
        • ยาที่มีฤทธิ์ดูดซับ (Adsorbents) แนวคิดของการใช้ยากลุ่มนี้ คือ ยาจะดูดซับเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส สารพิษต่าง ๆ  รวมทั้งกรดน้ำดี บางคนเชื่อว่ายานี้เข้าไปเคลือบเยื่อบุลำไส้เป็นการป้องกันมิให้เกิดอันตรายต่อลำไส้ เช่น คาโอลิน(kaolin) , เพคติน (pectin),ผงคาร์บอน (activated charcoal),สเมคไทต์ (dioctahedral smectite) สารเหล่านี้จะดูดน้ำและพองตัวทำให้อุจจาระมีลักษณะเป็นเนื้อมากขึ้น เหลวน้อยลง แต่ไม่ได้ช่วยลดปริมาณอุจจาระ ควรใช้ยากลุ่มนี้ภายใน 24-48 ชั่วโมงแรกที่เริ่มมีอาการจึงจะได้ผลดี อย่างไรก็ดีผู้ป่วยยังคงต้องดื่มสารละลายเกลือแร่ ORS ร่วมด้วย
        • กลุ่มโปรไบโอติก ( probiotic )เช่น Saccharomyces boulardii และ Lactobacillus acidophilus ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของ pH ในลำไส้นำไปสู่การยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียก่อโรค ป้องกันไม่ให้เชื้อจับกับเซลล์ลำไส้ ช่วยให้ลำไส้ฟื้นตัวดีขึ้น เป็นยาที่ปลอดภัยและไม่มีคุณสมบัติรบกวนยาอื่นแต่ยาออกฤทธิ์ช้า จึงไม่ค่อยนิยมใช้ในการรักษาโรคอุจจาระร่วงอย่างเฉียบพลันที่หายได้เองในเวลาอันสั้น
        • นอกจากนี้มีรายงานว่า การเสริมแร่ธาตุสังกะสีในระหว่างการเกิดอุจจาระร่วงเฉียบพลันมีส่วนช่วยลดระยะเวลาและความรุนแรงของโรคได้อธิบายได้ว่าเนื่องจากแร่ธาตุสังกะสีเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อเอ็นไซม์กว่า เนื่องจากแร่ธาตุสังกะสีเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อเอ็นไซม์กว่า  300  ชนิด การเสริมแร่ธาตุสังกะสีช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานได้ดียิ่งขึ้น ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกและยูนิเซฟแนะนำให้เด็กเล็กอายุต่ำกว่า  5  ปี ทุกคนที่มีอาการท้องร่วงได้รับ
        ธาตุสังกะสีเสริมในกระบวนการรักษา โดยให้ยานาน  10-14  วัน เพราะช่วยลดความรุนแรงของโรค ลด
ระยะเวลาการเป็นโรคและป้องกันการเกิดท้องร่วงในครั้งถัดไปได้ด้วย ซึ่งเกลือสังกะสีที่นิยมมากที่สุด คือราะช่วยลดความรุนแรงของโรค ลดระยะเวลาการเป็นโรคและป้องกันการเกิดท้องร่วงในครั้งถัดไปได้ด้ ซึ่งเกลือสังกะสีที่นิยมมากที่สzinc sulfate มีราคาถูกซึ่งมีราคาถูกและทำเป็นรูปสารละลายที่ใช้รับประทาน (oral solutions) ปัจจุบันจึงจึงมีการเลือก zinc sulfate ที่เป็นเภสัชตำรับโรงพยาบาลไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2551 ด้วย
        ทั้งนี้เพื่อให้อาการอุจจาระร่วงหายโดยเร็ว ขอให้ตระหนักว่าการทำให้อุจจาระร่วงหายโดยเร็ว คือการหาสาเหตุของอุจจาระร่วง และแก้ไขร่วมกับการให้ ORS เพื่อป้องกันและรักษาภาวะขาดน้ำและเกลือแร่จะได้ไม่นำไปสู่การป่วยหนักและฟื้นตัวได้ยาก นอกจากนี้ภาวะอุจจาระร่วงส่วนใหญ่จะหายได้เอง การให้ยาต้านอุจจาระร่วงจึงมีความจำเป็นเฉพาะในผู้ป่วยในบางรายที่ไม่มีการติดเชื้อและต้องการบรรเทาอาการ

 

Reference
        1. คู่มือการรักษาโรคอุจจาระร่วง และหลักเกณฑ์การใช้ยารักษาโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันในเด็ก สำหรับเภสัชกรและบุคลากรสาธารณสุข  สิงหาคม 2540 วราห์ มีสมบูรณ์ บรรณาธิการ
        2. Guideline for the management of acute diarrhea in adults. Journal of Gastroenterology and Hepatology(2002) 17 (Suppl.) S54–S71
        3. http://www.who.int/maternal_child_adolescent/documents/a85500/en/
        4. สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี
        5. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/node/10183