ยากับผู้สูงอายุ

By: | Tags: | Comments: 0 | กรกฎาคม 1st, 2014

            ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มประชากรที่มีโอกาสใช้ยามากกว่าประชากรวัยอื่น เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้มักเป็นโรคเรื้อรัง ทำให้มีโอกาสรับการรักษาจากแพทย์หลายคนทำให้ได้รับยาหลายชนิดในต่างวาระ สิ่งที่มักตามมาคือ ผลอันไม่พึงประสงค์จากปฏิกิริยาระหว่างยา และค่าใช้จ่ายในการรักษาที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น การใช้ยาในผู้สูงอายุจึงต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ

ปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาในผู้สูงอายุ 
            1. การทำงานของไต เมื่ออายุมากขึ้น ประสิทธิภาพการทำงานของไตจะลดลง ดังนั้น การขับถ่ายยาออกจากร่างกาย ซึ่งส่วนใหญ่ยาจะถูกขับถ่ายออกทางไตย่อมลดน้อยลง ทำให้มีโอกาสที่ยาจะสะสมในร่างกายสูงขึ้นจนเกิดอาการพิษได้
            2. การทำงานของตับ ยาที่ให้โดยการรับประทานมักจะผ่านขบวนการเปลี่ยนแปลงขั้นแรกที่ตับ ถ้าขบวนการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เสื่อมประสิทธิภาพ จะทำให้มีระดับยาในเลือดสูง จนอาจเกิดอันตรายได้
            3. การลดระดับของอัลบูมิน ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งในเลือดของผู้สูงอายุ จะทำให้ยาที่อยู่ในรูปอิสระมากขึ้น ทำให้ยาออกฤทธิ์ได้แรงขึ้น
            4. ความไวต่อยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ระบบการทำงานของหลอดเลือดและหัวใจ ผู้สูงอายุมักจะมีความไวต่อยาที่ออกฤทธิ์บริเวณดังกล่าว ทำให้เกิดอาการข้างเคียงของยาเพิ่มขึ้น
            5. ความจำของผู้สูงอายุ เมื่ออายุมากขึ้น ผู้สูงอายุอาจจะมีอาการหลงลืมได้ง่าย อาจเกิดปัญหาการใช้ยาไม่ครบตามที่กำหนด หรือการใช้ยาซ้ำซ้อน อาจทำให้เชื้อดื้อยา รักษาไม่หาย หรือเกิดอาการเป็นพิษเนื่องจากการใช้ยาเกินขนาดได้
            6. ผู้สูงอายุที่มีน้ำหนักน้อยหรือมากกว่าเกณฑ์ปกติ จำเป็นต้องพิจารณาขนาดยาให้เหมาะสม
            7. โรคในผู้สูงอายุ ซึ่งมักเป็นหลายโรค อาจพบแพทย์หลายคน ทำให้มีโอกาสได้รับยาซ้ำซ้อน จึงอาจได้รับยาเกินขนาดได้ และมีโอกาสเกิดปฏิกิริยาต่อกันของยาเพิ่มขึ้นอีกด้วย การเกิดปฏิกิริยาต่อกันของยา จะมีโอกาสเกิดได้มากในผู้สูงอายุ ซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับการขับถ่ายยาออกจากร่างกาย การจับกับโปรตีนของยา ความไวต่อยา รวมไปถึงการที่ผู้สูงอายุได้รับยาหลายชนิดในคราวเดียวกันด้วย
            8. พฤติกรรมของผู้สูงอายุ  เช่น
            – การซื้อยากินเอง  โดยเฉพาะยาชุดหรือยาที่แฝงมาในรูปยาลูกกลอนมารับประทาน ซึ่งมักมีการผสมยากลุ่ม
สเตียรอยด์ จึงส่งผลเสียระยะยาว
            – ขาดการติดตามการรักษาจากแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
            – การไม่รับประทานยาตามแพทย์สั่ง ซึ่งอาจเกิดจากวิธีการใช้ยายุ่งยาก ผู้ป่วยไม่เข้าใจวิธีการ เช่น ต้องรับประทานวันละหลายครั้งหยุดยาเองเพราะเกิดผลข้างเคียง,สายตาไม่ดี ฉลากยาที่เขียนไม่ชัดเจน เลยอ่านวิธีใช้ผิด หรือทัศนคติของผู้ป่วย เช่น รับประทานยามากๆจะทำให้ตับและไตวาย จึงหยุดยาเอง หรืออยากหายเร็วก็เพิ่มปริมาณเอง
            – การชอบเก็บสะสมยา  และนำกลับมาใช้ซ้ำ  ซึ่งอาจเกิดอันตรายได้หากยานั้นหมดอายุแล้ว
 จะเห็นว่า การใช้ยาในผู้สูงอายุมีปัจจัยหลายอย่างที่ต้องคำนึงถึง ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้สูงอายุและผู้ที่ดูแลควรปฏิบัติดังนี้
            1. ไม่ซื้อยารับประทานเอง ควรพบหรือปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรทุกครั้งเมื่อจำเป็นต้องใช้ยา
            2. เมื่อต้องไปพบแพทย์แต่ละครั้ง ควรมีญาติมิตรหรือผู้ที่ดูแลติดตามไปด้วย เพื่อช่วยร่วมรับฟังรายละเอียดการรักษาและข้อแนะนำการใช้ยา รวมถึงช่วยสอบถามประเด็นที่สำคัญต่อการดูแลผู้ป่วย
            3. แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาที่ใช้อยู่ หรือนำยาทุกชนิด ผลิตภัณฑ์สมุนไพรและอาหารเสริมไปให้แพทย์ดู ยิ่งถ้าผู้สูงอายุนั้นไม่มีแพทย์ประจำตัว เปลี่ยนแพทย์บ่อย ๆ จำเป็นต้องแจ้งให้แพทย์แต่ละคนทราบถึงการจ่ายยาของแพทย์คนอื่น ๆ ด้วย เพื่อประกอบการพิจารณาการจ่ายยาของแพทย์
            4. แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น  เช่น ใช้ไปแล้วขาบวม ปัสสาวะบ่อย ไอเรื้อรัง หรือแม้แต่การได้ยินเสียงแย่ลง ซึ่งอาจเป็นผลจากยา ไม่ใช่อาการปกติเมื่ออายุมากขึ้น  เป็นต้น
            5. แจ้งให้ทราบถ้ามีปัญหาเกี่ยวกับการกลืนยา เพื่อแพทย์จะได้เลือกชนิดยาที่เหมาะสม เช่น ให้ยาน้ำแทนยาเม็ด
            6. ศึกษาเกี่ยวกับยา ที่ผู้สูงอายุใช้อยู่ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา เช่น ยาที่ใช้เป็นยารับประทานหรือใช้ทา ใช้รับประทานก่อนหรือหลังอาหาร รับประทานครั้งละเท่าไร วันละกี่ครั้ง มีอาการข้างเคียงหรือไม่ อย่างไร เป็นต้น
            7. สอบถามแพทย์เกี่ยวกับระยะเวลาการใช้ยาให้ชัดเจน เช่น จะหยุดยานี้ได้เมื่อใด ขณะทำงานจะรับประทานยานี้ได้หรือไม่ หรือต้องงดกิจกรรมอะไรบ้าง
            8. สอบถามแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับอาหารที่รับประทานว่า มีผลต่อการใช้ยาหรือไม่ อย่างไร
            9. อ่านฉลากยา และปฏิบัติตามคำแนะนำทุกขั้นตอน ก่อนการใช้ยาทุกครั้ง
            10.จัดเตรียมยาให้พร้อมต่อการใช้ เช่น การหักครึ่ง การกดยาเม็ดออกจากแผง การจัดยาเป็นเวลา เป็นต้น
            11. รับประทานยาตามที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำอย่างเคร่งครัด ในรายที่มีอาการหลงลืม ควรใช้สิ่งช่วยจดจำ เช่นเขียนขนาดและวิธีรับประทานตัวใหญ่ติดบนปฏิทิน หรือกล่องใส่ยาชนิดที่รับประทานช่องละหนึ่งครั้ง จะได้ไม่ลืมรับประทานยา หรือรับประทานยาซ้ำซ้อน อาจใส่กล่องแยกชั้นยา เช่น เช้า กลางวัน เย็น ก่อนนอน
            12. หากผู้ป่วยสูงอายุช่วยเหลือตัวเองได้ไม่ดี ผู้ดูแลควรหยิบยามาให้รับประทานเองกับมือ วิธีนี้จะปลอดภัยที่สุด
            การใช้ยาในผู้สูงอายุมีโอกาสเสี่ยงต่ออันตรายมากกว่าผู้ป่วยในวัยอื่น ดังนั้นจึงควรใช้ยาให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น ถ้าจำเป็นต้องใช้ยาควรทำความเข้าใจถึงข้อบ่งใช้ของยา วิธีใช้ที่ถูกต้อง พร้อมทั้งเตรียมยาให้พร้อมและสะดวกต่อการใช้ได้โดยง่าย และผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นบุตรหลานหรือบุคลากรทางการแพทย์ก็ตาม ควรให้ความใส่ใจในการใช้ยาของผู้สูงอายุเป็นพิเศษ และคอยให้กำลังใจแก่ผู้สูงอายุ เพื่อผลการรักษาและคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยเป็นสำคัญ