ยาแก้ไมเกรน

By: | Tags: | Comments: 0 | มิถุนายน 5th, 2014

            ไมเกรน (migraine)  เป็นอาการปวดศีรษะชนิดหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะอาการที่สำคัญคือ ปวดตุ้บๆ ที่บริเวณขมับข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ บางกรณีอาจมีการปวดวนกัน มักปวดบริเวณเดิมซ้ำๆ อาจปวดบริเวณเบ้าตา เริ่มจากปวดแบบตื้อๆ จี๊ดๆ ก่อน แล้วค่อยรุนแรงขึ้นจนเป็นตุ้บๆตามจังหวะชีพจร  ความรุนแรงของอาการปวดมีตั้งแต่ปวดปานกลางจนถึงรุนแรงมาก ระยะเวลาของอาการปวดมีความแตกต่างกันในแต่ละคนตั้งแต่  4-72 ชม. อาการปวดจะกำเริบหรือรุนแรงมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหว ขณะปวดไมเกรนอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร และอาจไวต่อแสงหรือเสียง   นอกจากนี้บางคนก่อนจะมีอาการปวดไมเกรนอาจมี “อาการนำ” มาก่อนประมาณ 5-20 นาที เช่น เห็นแสงวูบวาบคล้ายแสงแฟลช ตามองไม่เห็นชั่วขณะ ที่เรียกว่า ออร่า ( Aura) หรือชาข้างใดข้างหนึ่งของร่างกาย เป็นต้น

            การปวดศีรษะแบบไมเกรนนั้นเป็นโรคทางสมองชนิดหนึ่งซึ่งยังหาสาเหตุที่แน่ชัดไม่ได้ แต่น่าเชื่อได้ว่าอาจมีจุดกำเนิดจากก้านสมองที่ทำงานผิดปกติ หรือเกิดจากภาวะที่สารเคมีในสมองที่ชื่อว่า ซีโรโทนิน ( serotonin ) ไม่สมดุล ส่งผลให้หลอดเลือดมีความไวต่อการกระตุ้นมากเป็นพิเศษ กล่าวคือ เกิดการขยายตัวของหลอดเลือดอย่างผิดปกติจนเกิดการบวมและอักเสบ
            จากหลักฐานข้อมูลทางระบาดวิทยา ปัจจุบันเชื่อว่าไมเกรนถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ แต่จะเกิดอาการหรือไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยทั้งภายในและภายนอกร่างกายที่มากระทบตัวผู้เป็น

 

ปัจจัยกระตุ้นให้เกิดไมเกรน
          • ความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ช่วงมีประจำเดือน ระหว่างตั้งครรภ์ ช่วงหมดประจำเดือน หรือการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด
          • อาหารบางชนิด เช่น  เนย ชีส ช็อคโกแลต ไวน์แดง เบียร์ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ถั่วบางชนิด กล้วยสุกงอม ชา กาแฟและเครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีน น้ำตาลเทียม  ผงชูรส  รวมถึงสารที่แต่งอาหารบางชนิด ก็มีผลเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการไมเกรนได้ด้วย เช่น สารไนไตรด  ซึ่งจะพบในอาหารพวก เบคอน ไส้กรอก ซาเซมิ แฮม เนื้อหมัก
          • การกระตุ้นทางประสาทสัมผัส อาทิ แสงจ้า เสียงดัง กลิ่นฉุน กลิ่นบุหรี่
          • รูปแบบการนอนที่เปลี่ยนไป เช่น นอนดึก นอนไม่พอ หรือนอนมากเกินไป
          • สิ่งแวดล้อม เช่น  อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็น “อากาศร้อน” หรือ “เย็นมากเกินไป” อยู่ท่ามกลางแสงแดดเป็นเวลานาน หรือได้กลิ่นบางอย่างก็ทำให้ปวดหัว เช่น กลิ่นน้ำหอม ควันบุหรี่
          • ความเครียด ผู้ที่มีความเครียดจะมีอาการปวดไมเกรนได้บ่อยและรุนแรงกว่าผู้ที่ไม่เครียด
          • ยาบางชนิด  เช่น ยาคุมกำเนิด  ยานอนหลับ

 

การรักษา
          แบ่งเป็นการรักษาโดยการใช้ยา และไม่ใช้ยา แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะการรักษาโดยการใช้ยา และ สำหรับยาที่ใช้ในการรักษาอาการปวดไมเกรนนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ
กลุ่มที่ใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดไมเกรน
        * ยากลุ่มแก้ปวด  เป็นยาแก้ปวดทั่วไป ซึ่งไม่ได้จำกัดการใช้เฉพาะในโรคปวดศีรษะแบบไมเกรนเท่านั้น แต่สามารถใช้ในการรักษาอาการปวดทั่วไปได้ด้วย ยาดังกล่าว ได้แก่ พาราเซตามอล ( paracetamol ) แต่ถ้าไม่ได้ผลก็อาจจะต้องพิจารณาใช้  ยาลดอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์  หรือที่เรียกกันว่า  NSAIDs   เช่น ไอบูโพรเฟน ( ibruprofen ) นาพรอกเซน ( naproxen )  มีเฟนนามิคแอซิด  ( mefenamic acid) เป็นต้น   ซึ่งมีประสิทธิภาพในการแก้ปวดมากขึ้น แต่มีผลข้างเคียงที่มักจะระคายเคืองกระเพาะอาหาร  หรืออาจจะใช้เป็นยาแก้ปวดที่เป็นอนุพันธ์ของมอร์ฟีน ซึ่งจัดให้เป็นยาเสพติดอีกประเภทหนึ่ง  การเลือกใช้ยานี้จึงต้องให้แพทย์เป็นผู้พิจารณา

 

         * ยากลุ่ม Ergot alkaloids ได้แก่ ergotamine ในปัจจุบันนี้มีหลากหลายยี่ห้อในท้องตลาด เช่น cafergot  , avamigran,   tofargo เป็นต้น จัดเป็นยาอีกกลุ่มหนึ่งที่นิยมใช้ในการบรรเทาอาการปวดไมเกรน ข้อดีของยากลุ่มนี้คือ ยาออกฤทธิ์ได้นานและลดการเป็นซ้ำของไมเกรนได้ในบางราย ซึ่งแพทย์อาจพิจารณาให้ยา ergotamine เพียงตัวเดียวในการรักษาหรืออาจให้ร่วมกับยา กลุ่มแก้ปวด หากอาการปวดไมเกรนยังไม่ดีขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการปวด และสภาพร่างกายของแต่ละคน สำหรับผลข้างเคียงที่สำคัญของยา ergotamine ได้แก่ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดตามแขนขาหรือกล้ามเนื้อ มีอาการชา รู้สึกหนาวตามปลายมือปลายเท้า ปวดศีรษะ เป็นต้น หากมีอาการดังกล่าวให้หยุดยาและปรึกษาแพทย์ทันที และเนื่องจากยา ergotamine ที่จำหน่ายในท้องตลาดอยู่ในรูปแบบที่มีส่วนประกอบของคาเฟอีนร่วมด้วยเพื่อช่วยให้ร่างกายสามารถดูดซึมยา ergotamine ได้ดีขึ้น ดังนั้นนอกจากผลข้างเคียงจากยา ergotamine แล้ว บางคนยังอาจได้รับผลข้างเคียงจากคาเฟอีนด้วย ได้แก่ ใจสั่น ปวดศีรษะ เป็นต้น
          คำแนะนำสำหรับการใช้ยาที่มีส่วนประกอบของ ergotamine คือ ไม่ควรกินเกินวันละ 6 เม็ด และไม่ควรเกินสัปดาห์ละ 10 เม็ด นอกจากนี้ยังห้ามใช้ยากลุ่มนี้ในผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับหลอดเลือดและหัวใจ เส้นเลือดสมองตีบ ผู้ที่มีภาวะไตวาย ในหญิงตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร

 

         * ยากลุ่ม Triptans เช่น  ซูมาทริปแทน  ( zolmitriptan : Zomig),อีลีทริปแทน ( eletriptan: Relpax ) เป็นต้น เป็นกลุ่มยาที่ถูกพัฒนามาใหม่เพื่อใช้ในการบรรเทาอาการปวดไมเกรนโดยเฉพาะ  ข้อดีของยากลุ่มนี้ ได้แก่ ออกฤทธิ์เร็วและลดการเป็นซ้ำของไมเกรนได้ดี นอกจากนี้ยังลดปัญหาการเกิด headache recurrence (เป็นอาการปวดศีรษะที่แย่ลง โดยเกิดขึ้นหลังจากอาการปวดไมเกรนดีขึ้นเมื่อกินยาแล้วภายใน 24 ชั่วโมง) ได้ดีกว่ายา ergotamine และมีผลข้างเคียงจากยาน้อย อย่างไรก็ตามยาในกลุ่มนี้ยังมีราคาค่อนข้างสูง ในปัจจุบันแพทย์จึงมักพิจารณาให้ในผู้ที่มีการเป็นซ้ำของไมเกรนบ่อยๆ  ยากลุ่มนี้ก็มีข้อห้ามใช้เช่นเดียวกันกับยา ergotamine และไม่ควรซื้อใช้เองแต่ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ทุกครั้ง
         คำแนะนำสำหรับการใช้ยากลุ่ม ergotamine และกลุ่ม triptans นี้คือ ควรกินยากลุ่มนี้ทันที เมื่อเริ่มมีอาการปวดไมเกรน เพื่อให้ยามีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการปวดไมเกรนได้อย่างสูงสุด
         นอกจากยาที่ใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดศีรษะแล้ว ในกรณีที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย แพทย์หรือเภสัชกรอาจพิจารณาให้ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน  ได้แก่ เมโทโคลพราไมด์( metoclopramide) หรือดอมเพอริโดน( domperidone ) คู่ไปกับยาแก้ปวดด้วย  ยากลุ่มนี้จะทำให้กระเพาะอาหารบีบตัวได้ดีขึ้น ยาแก้ปวดจะดูดซึมได้ดีและเร็วขึ้นด้วย

 

กลุ่มที่ใช้เพื่อป้องกันอาการปวดไมเกรน
         สำหรับยาที่ใช้เพื่อป้องกันอาการปวดไมเกรนนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ในผู้ที่ปวดไมเกรนทุกราย โดยแพทย์จะพิจารณาให้ในบางรายเท่านั้น เพื่อช่วยให้ความรุนแรงหรือความถี่ของอาการปวดไมเกรนลดน้อยลง

 

กลุ่มผู้ที่ควรได้รับยาป้องกันอาการปวดไมเกรน
         – ผู้ที่มีอาการปวดไมเกรนมากกว่า 2 ครั้ง ต่อเดือน
         – ผู้ที่มีอาการปวดรุนแรงจนมีผลต่อการดำเนินชีวิต ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง
         – ผู้ที่มีแนวโน้มว่าอาการปวดไมเกรนจะรุนแรงมากขึ้น หรือปวดเป็นระยะเวลานานมากขึ้น
         ยาที่ใช้เพื่อป้องกันอาการปวดไมเกรนในปัจจุบันนี้มีหลากหลายชนิด โดยควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อให้เกิดการเลือกชนิดของยาและการปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับแต่ละราย ควรกินยาป้องกันอาการปวดไมเกรนอย่างต่อเนื่องจนอาการปวดสงบลง นาน 6-12 เดือน แพทย์จึงอาจพิจารณาหยุดยา และถ้าอาการปวดไมเกรนกำเริบขึ้นอีกครั้งจึงค่อยเริ่มกินยาป้องกันใหม่

 

ตัวอย่างกลุ่มยาป้องกันอาการปวดไมเกรน เช่น
         * กลุ่มยาต้านเบต้า (Beta-blockers) เช่น โพรพาโนลอล (propanolol), อะทีโนลอล (atenolol)  เป็นต้น
         * กลุ่มยาต้านแคลเซียม (Calcium channel blockers) เช่น ฟลูนาริซีน (flunarizine),เวอราพามิล( verapami) เป็นต้น
         * ยารักษาโรคซึมเศร้า เช่น  อะมิทริปไทลีน ( amitriptyline ),นอร์ทริปไทลีน ( nortriptyline ) เป็นต้น
         * ยากันชักบางชนิด เช่น โซเดียมวาลโปรเอท ( sodium valproate ), โทพิราเมท ( topiramate ) เป็นต้น

 

         นอกเหนือไปจากการรักษา โดยการให้แพทย์หรือเภสัชกรเป็นผู้พิจารณาเลือกยาเพื่อรักษาอาการปวดศีรษะไมเกรนตามความรุนแรงของการปวดศีรษะที่เกิดขึ้นร่วมกับสภาวะข้อจำกัดของร่างกายของผู้ป่วยแต่ละราย เช่น การทำงานของตับ ไต หรือโรคประจำตัวแล้ว  การรักษาโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเองในชีวิตประจำวัน เพื่อหลีกเลี่ยงปัจจัยที่จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะไมเกรน ก็เป็นสิ่งที่มีความสำคัญเช่นกัน  ซึ่งรายละเอียดท่านสามารถอ่านเพิ่มเติมในหัวข้อ การรักษาไมเกรนด้วยตนเองโดยไม่ใช้ยาใน Part Health Tips