My heart,Your heart
ในวันที่ 29 กันยายน ของทุกปีถูกกำหนดเป็นวันหัวใจโลก (World Heart Day) สำหรับในปีนี้มีแคมเปญที่มีชื่อว่า My heart , Your heart ซึ่งสื่อถึงการดูแลบำรุงรักษาหัวใจของตนเองและยังครอบคลุมไปถึงการดูแลหัวใจของบุคคลอื่นอันเป็นที่รักของเราหัวใจของเราทำหน้าที่สำคัญอย่างยิ่งในการสูบฉีดเลือดซึ่งอุดมไปด้วยออกซิเจนและสารอาหารต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ส่งไปเลี้ยงเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายส่งผลให้เซลล์เหล่านั้นสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยปกติหัวใจเรานั้นปกติเต้นเฉลี่ย 72 ครั้งต่อนาที หมายความว่าเมื่อเราอายุ 66 ปี หัวใจของเราจะเต้นไปแล้วประมาณ 2,500 ล้านครั้ง โดยไม่มีการหยุดพัก!!! ไม่ว่าตัวเราจะทำงาน นั่งพักผ่อนหรือนอนหลับ หัวใจยังคงต้องทำงานตลอดเวลา ดังนั้นหัวใจจึงเป็นอวัยวะที่มีโอกาสเสื่อมได้ง่ายกว่าอวัยวะอื่น ถ้าหากเราต้องการให้หัวใจยังคงทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพถึงแม้ว่าจะเข้าสู่วัยสูงอายุแล้วจึงต้องมีการดูแลรักษาทะนุถนอมหัวใจเราเป็นอย่างดีและรวมถึงช่วยดูแลหัวใจของผู้ที่เรารักอีกด้วย แต่ท่านผู้อ่านทราบหรือไม่ครับว่าเราจะดูแลหัวใจเราอย่างไรให้แข็งแรงในขณะที่อยู่ในวัยหนุ่มสาวจนถึงเข้าสู่วัยสูงอายุ ง่ายมาก ๆ ครับ เพียงแค่ปฏิบัติตามคำแนะนำด้านล่าง ดังนี้
1.เลิกบุหรี่ บุหรี่เป็นศัตรูของหัวใจที่สำคัญ ยกตัวอย่างสารบางชนิดในบุหรี่ที่มีโทษต่อร่างกาย เช่น นิโคตินทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น หัวใจเต้นเร็วขึ้น ความดันโลหิตสูงขึ้น ก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์แย่งชิงกับออกซิเจนเพื่อจับกับเม็ดเลือดแดงส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจมีประสิทธิภาพการทำงานลดลง การบีบตัวลดลง กระตุ้นความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ส่งผลทำลายหัวใจอย่างมาก ลองดูผลดีจากการเลิกบุหรี่ เช่น เพียงหยุดสูบแค่ 8 ชั่วโมง คาร์บอนมอนออกไซด์จะถูกขจัดออกจากร่างกาย ออกซิเจนกลับสู่ระดับปกติ ถ้าหยุดสูบได้อย่างน้อย 3 วัน นิโคตินจะถูกขจัดออกจากร่างกายไปหมด
2. ควบคุมโคเลสเตอรอลในเลือดในความเป็นจริง โคเลสเตอรอลเป็นสารที่จำเป็นต้องการทำงานของร่างกาย แต่ในการที่มีโคเลสเตอรอลในเลือดปริมาณมากเกินไปจะส่งผลให้มีโอกาสเกิดโรคหัวใจเฉียบพลันได้เพราะฉะนั้นเราควรควบคุมการรับประทานอาหารที่มีโคเลสเตอรอลสูงไม่ให้เกินเป้าหมายที่แพทย์ต้องการ
3. ควบคุมความดันโลหิตให้ได้ระดับตามที่แพทย์กำหนด ทำให้ช่วยลดภาระของหัวใจ ไม่ต้องทำงานหนักเกินไป
4. ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เหมาะสมตามที่แพทย์กำหนด
5. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอให้เหมาะสมกับแต่ละวัย ไม่มีคำว่าสายในการเริ่มต้นในการออกกำลังกาย
6. ควบคุมน้ำหนักไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด
7. สนุกกับการรับประทานอาหารหลากหลายชนิดให้ครบ 5 หมู่ ลดอาหารเค็ม ลดอาหารที่มีไขมันสูง
8. ดูแลสุขภาพจิตใจให้มีความสดชื่น แจ่มใส หากพบว่าคุณหรือคนที่รักในครอบครัวมีอาการซึมเศร้าเกินกว่า 2 สัปดาห์ สิ่งที่สำคัญคือการพาตนเองหรือคนที่คุณรักไปปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
จากวิธีปฏิบัติด้านบน ถ้าหากท่านใดยังปฏิบัติข้อใดยังไม่เต็มที่ จากนี้ลองสัญญากับตัวเองว่าเราจะปรับการปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อเป็นการถนอมดูแลหัวใจของเราให้แข็งแรง เราเชื่อว่าคุณทำได้!!
#สุขภาพดีทุกจังหวะชีวิต
You must be logged in to post a comment.