เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ โรค Office Syndrome หรือโรคของคนทำงานออฟฟิศ

By: | Tags: | Comments: 0 | พฤษภาคม 2nd, 2014

 

       Office Syndrome เป็นกลุ่มอาการที่พบได้บ่อยในคนวัยทำงาน ซึ่งเกิดจากสภาพแวดล้อมในที่ทำงานไม่เหมาะสม หรือการนั่งทำงานเป็นระยะเวลานานๆ โดยไม่มีการเคลื่อนไหวของร่างกาย หรือเกิดจากการทำงานซ้ำๆ เป็นระยะเวลานานๆ จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่าประเทศต่างๆ ต้องสูญเสียรายได้เพิ่มขึ้นทุกปีเนื่องจากปัญหาโรคเรื้อรังของประชากร  ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง  ซึ่งส่วนใหญ่จะมีอาการปวดหลัง รองลงมาคือ ปวดคอ ไหล่ และปวดศีรษะ ตามลำดับ อาการทางกายอื่นๆ ซึ่งสามารถพบได้คือ การอักเสบของเส้นเอ็น รวมทั้งเกิดภาวะพังผืดหนาทำให้เกิดอาการชา บริเวณนิ้วและข้อมือ เรียกว่า carpal tunnel syndrome หรือทำให้เกิดอาการนิ้วล็อคเรียกว่า trigger finger (Tendovaginitis) รวมทั้งอาจมีอาการปวดกล้ามเนื้อ แขนขาเรื้อรัง การนอนหลับไม่สนิท ทำให้มีอาการอ่อนเพลียอารมณ์ไม่สดชื่น

 

        สาเหตุ การเกิดอาการดังกล่าวมักมาจากสภาพแวดล้อมในที่ทำงานไม่เหมาะสม ทำให้เกิดพฤติกรรมการทำงานที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งพฤติกรรมต่างๆ ที่ทำให้เกิดอาการ มีดังต่อไปนี้
       – การใช้แป้นกดคอมพิวเตอร์ที่ไม่มีแผ่นรองรับข้อมือ
       – การนั่งไขว่ห้าง น้ำหนักตัวจะถูกกดทับลงข้างใดข้างหนึ่ง เมื่อกดทับเป็นเวลานานสามารถทำให้กระดูกสันหลังบิดคดได้
      – การนั่งหลังงอหรือหลังค่อม เช่น การนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์นานๆ เป็นชั่วโมงๆ จะทำให้กล้ามเนื้อเกร็งค้างเกิดการคั่งของกรดแลคติคทำให้มีอาการเมื่อยล้า ปวด และมีปัญหาเรื่องกระดูกผิดรูป (scoliosis) ตามมา
      – การนั่งเบาะเก้าอี้ไม่เต็มก้นจะทำให้กล้ามเนื้อหลังทำงานหนักเพราะว่าฐานในการรับน้ำหนักตัวไม่ได้สมดุล

 

      การรักษา
        1.การรักษาตามอาการที่เกิดขึ้น โดยใช้ยาร่วมกับการทำกายภาพบำบัด
        2. การรักษาตามสาเหตุ เนื่องจากภาวะดังกล่าวเกิดจากสิ่งแวดล้อมในที่ทำงานและการปฏิบัติตัวที่ไม่เหมาะสม ดังนั้น จึงควรจัดสถานที่ทำงานให้เหมาะสม เช่น
          –  ปรับหน้าจอคอมพิวเตอร์ควรอยู่ในระดับเดียวกับสายตาหรือต่ำกว่าเล็กน้อย โต๊ะและเก้าอี ควรมีขนาดพอดีได้มาตรฐานและมีพนักพิง
           – การนั่งเก้าอี้ ก็ควรนั่งให้เต็มเก้าอี้ เนื่องจากส่วนใหญ่ชอบนั่งแค่ครึ่งหรือปลายเก้าอี้
           – การทำงานติดต่อกันทุก 1-2 ชั่วโมงควรมีการพักอย่างน้อย 5 นาที
           – ทำงานแบบผสมหรือสลับเพื่อลดพฤติกรรมการทำงานแบบซ้ำๆ เช่น ทำงานหน้าจอสลับกับจัดเอกสาร เป็นต้น
           – เหยียดกล้ามเนื้อในระหว่างวัน เช่น ก่อนเลิกงาน วิธีง่ายๆ ก็ คือการบีบนวดต้นคอ ยืดกล้ามเนื้อคอ หรือเอียงซ้าย-ขวา ก้มและเงยหน้า ฯลฯ แต่ละท่าควรทำค้างไว้สัก 10 วินาที เพื่อให้กล้ามเนื้อ หรือเส้นเอ็นยืดตัวได้

 

           โรค Office Syndrome นั้นไม่ใช่เรื่องไกลตัวเราเลยนะคะ  ตรงกันข้ามอาจเกิดกับเราได้ตลอดเวลา  ดังนั้นเราจึงควรหันมาให้ความใส่ใจกับสุขภาพของเราเอง อย่ามัวแต่นั่งทำงานอย่างเดียว  เพื่อที่จะให้กล้ามเนื้อต่างๆ ในร่างกายได้มีการเคลื่อนไหวบ้าง  จะได้ไม่ต้องทนทรมานกับโรค Office syndrome อีกต่อไปค่ะ