ป้องกันลูกรักจากโรค มือ เท้า ปาก
โรค มือ เท้า ปาก และโรคจากเชื้อเอนเตอโรไวรัส 71 นับเป็นโรคที่ระบาดในเด็กโรคหนึ่ง ที่พบทุกปี โดยเฉพาะในช่วงที่เริ่มเข้าหน้าฝนเป็นช่วงที่มีอัตราการระบาดของโรคนี้สูง เพราะฉะนั้น เรามาทำความรู้จักโรคนี้ให้มากขึ้นกันดีกว่า
โรค มือ เท้า ปาก
เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็ก ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี มักระบาดในช่วงหน้าฝน โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเตอโรไวรัส ซึ่งมีหลายตัวที่ทำให้เกิดได้ โดยเชื้อที่รุนแรงที่สุด คือ เอนเตอโรไวรัส 71 หรือเรียกสั้นๆ ว่าเชื้อ อีวี 71 ที่มีการระบาดรุนแรงในประเทศเพื่อนบ้านของเราก็เป็นเชื้อ อีวี 71 นี่เอง ประเทศไทยเราก็พบเชื้อ อีวี 71 ร่วมกับเอนเตอโรไวรัสตัวอื่นๆด้วย แต่ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ที่ไม่ค่อยรุนแรง
อาการของโรค มือ เท้า ปาก
ระยะแรกจะเริ่มจากเป็นไข้ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย อาจมีน้ำมูก ไอ เจ็บคอ เสียงแหบ (คล้าย เป็นหวัด) อาเจียนหรือถ่ายเหลวร่วมด้วย ต่อมาเป็นผื่นและตุ่มน้ำใสที่บริเวณปาก ฝ่ามือ และฝ่าเท้า บางครั้งอาจจะมีผื่นขึ้นที่บริเวณก้นด้วย ลักษณะสำคัญเฉพาะโรคนี้คือ ตุ่มน้ำใสที่ขึ้นในปากจะมีขนาดเล็กและแตกเป็นแผลตื้นๆ โดยเฉพาะบริเวณลิ้นและกระพุ้งแก้ม ทำให้เด็กกินอาหารได้น้อยลง และน้ำลายไหลมากผิดปกติ ส่วนตุ่มใสที่มือและเท้าจะไม่แตกเหมือนตุ่มในปาก ผู้ป่วยมักมีอาการมากประมาณ 2-3 วัน จากนั้นจะค่อยๆ ดีขึ้นจนหายใน 1 สัปดาห์ ส่วนใหญ่มีอาการไม่มาก แต่บางรายมีอาการมากจนกินอาหารและน้ำไม่ได้
แม้ว่าอาการของเด็กที่เป็นโรค มือ เท้า ปาก จะแยกจากโรคทั่วไปได้ยาก แต่ก็พอจะมีสิ่งที่สังเกตได้อยู่ ถ้าลูกมีไข้โดยไม่รู้สาเหตุว่าเกิดจากอะไรควรหยุดเรียนเพื่อรอดูอาการอย่างน้อย 5 -7 วัน หากไข้ลดลงแล้วไม่มีตุ่มใสขึ้นก็ไปโรงเรียนได้ตามปกติ แต่หากเฝ้าดูอาการแล้วพบว่ามีตุ่มขึ้นก็อาจจะเป็นโรค มือ เท้า ปาก และเมื่อพบว่าลูกป่วยเป็นโรคนี้ควรให้ลูกหยุดเรียน เพื่อลดการแพร่กระจายของโรค มือ เท้า ปาก ดังนั้นหลักในการสังเกตง่ายๆ จึงอยู่ที่ตุ่มใสและตำแหน่งที่ขึ้นร่วมกับอาการมีไข้
โดยปกติโรคนี้ไม่น่ากลัว และหายเองโดยไม่มีปัญหา แต่อาจมีโอกาสเล็กน้อยที่จะเกิดอาการรุนแรงหรือพบปัญหาแทรกซ้อนได้ โดยเฉพาะถ้าเกิดจากเชื้อ อีวี 71 จะมีโอกาสเกิดโรครุนแรงได้มากขึ้น
ปัญหาแทรกซ้อนที่รุนแรงที่สุดคือ ก้านสมองอักเสบ ทำให้เกิดภาวะหายใจและระบบไหลเวียนของโลหิตล้มเหลว ซึ่งถึงแก่ชีวิตได้อย่างรวดเร็ว และบางครั้งเชื้ออีวี 71 อาจทำให้เกิดสมองอักเสบรุนแรงได้ โดยไม่ต้องมีผื่นแบบ มือ เท้า ปาก ก็ได้ เด็กที่จะมีปัญหาแทรกซ้อนรุนแรงหรือสมองอักเสบ จะมีสัญญาณอันตรายได้แก่ ซึม อ่อนแรง ชักกระตุก มือสั่น เดินเซ หอบ อาเจียน ซึ่งหากพบอาการเหล่านี้จะต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วน การระบาดของโรค มือ เท้า ปาก ในประเทศไทยในขณะนี้แม้ส่วนใหญ่จะเป็นชนิดอาการไม่รุนแรง แต่อย่างไรก็ดีต้องระวังอาการรุนแรงไว้ด้วย แม้จะมีโอกาสเกิดน้อยก็ตาม
การรักษาโรค มือ เท้า ปาก
โรค มือ เท้า ปาก ไม่มีวัคซีนและยาเฉพาะในการรักษา ก็จะเป็นการรักษาตามแต่อาการที่เป็นเท่านั้นเอง เช่น ให้ยาลดไข้ เช็ดตัวลดไข้ ให้กินอาหารอ่อนๆ และอาหารที่มีความเย็น เช่น น้ำผลไม้ ไอศกรีม เพื่อลดอาการเจ็บที่ปาก ลิ้น และทำให้เด็กกินได้มากขึ้น คุณพ่อคุณแม่ควรหลีกเลี่ยงอาหารแข็งและอาหารร้อนๆ นอกจากนั้นเด็กอาจมีอาการท้องร่วง อ่อนเพลีย เนื่องจากสูญเสียน้ำและเกลือแร่ ควรให้เด็กดื่มสารละลายเกลือแร่ร่วมด้วย แต่หากลูกเกิดตัวเขียว หายใจหอบเหนื่อย มือซีด อาการแย่ลงอย่างรวดเร็ว ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลด่วน โดยปกติโรคนี้สามารถหายได้เองภายใน 5-7 วัน เมื่อไข้ลด ตุ่มน้ำยุบ กินอาหารได้ตามปกติ ลูกก็สามารถไปโรงเรียนได้
การติดต่อของโรค มือ เท้า ปาก
โรคนี้ติดต่อโดยการสัมผัส น้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระของผู้ป่วยโดยตรง หรือทางอ้อม เช่น สัมผัสผ่านของเล่น มือผู้เลี้ยงดู น้ำและอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ โรคนี้จึงมักระบาดในโรงเรียนชั้นอนุบาลเด็กเล็กหรือสถานรับเลี้ยงเด็กเล็ก
วิธีป้องกันโรค มือ เท้า ปาก
ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคนี้ การป้องกันที่สำคัญคือ แยกผู้ป่วยที่เป็นโรคมิให้ไปสัมผัสกับเด็กคนอื่น เด็กทุกคนรวมทั้งผู้ใหญ่ที่ดูแลเด็กควรหมั่นล้างมือ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ หมั่นทำความสะอาดของเล่น และสิ่งแวดล้อมทุกวัน การทำความสะอาดโดยใช้สบู่ ผงซักฟอก หรือน้ำยาชะล้างทำความสะอาดทั่วไปและทำให้แห้ง ควรระมัดระวังในความสะอาดของน้ำ อาหาร และสิ่งของทุกๆ อย่างที่เด็กอาจเอาเข้าปาก ไม่ให้เด็กใช้ของเล่นที่อาจปนเปื้อนน้ำลาย หรืออุปกรณ์การรับประทานร่วมกัน ควรสอนให้เด็กๆ ใช้ช้อนกลาง และล้างมือก่อนรับประทานอาหาร
โรงเรียนไม่ควรรับเด็กป่วยเข้าเรียนจนกว่าจะหายดี ซึ่งมักใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ ผู้ปกครองควรพาบุตรหลานที่ป่วยไปพบแพทย์ ไม่ควรพาไปโรงเรียน หากพบว่าเป็นโรคนี้ควรให้การรักษาตามคำแนะนำของแพทย์ และเมื่อหายป่วยแล้ว เด็กที่เป็นโรคนี้ยังมีเชื้ออยู่ในอุจจาระได้ นานหลายสัปดาห์ ดังนั้นเมื่อเด็กหายป่วยแล้ว ยังต้องมีการระวังการปนเปื้อนของอุจจาระต่ออีกนาน ควรเน้นการล้างมือหลังเข้าห้องน้ำหรือเปลี่ยนผ้าอ้อม และก่อนรับประทานอาหาร เด็กและผู้ใหญ่ทุกคน ควรล้างมือด้วยน้ำและสบู่ เพราะแอลกอฮอลล์เจลจะฆ่าเชื้อเอนเตอโรไวรัสไม่ได้
ในช่วงที่มีการระบาด ไม่ควรนำเด็กไปในที่ที่มีเด็กอื่นอยู่รวมกันจำนวนมาก เพราะจะมีโอกาสรับเชื้อได้เนื่องจากมีเด็กที่เป็นโรคนี้และแพร่เชื้อได้โดยที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยมาก ที่อาจไปอยู่รวมกัน
การป้องกันการระบาดในสถานรับดูแลเด็กหรือโรงเรียนชั้นอนุบาล
1. มีการตรวจคัดกรองเด็กป่วย ได้แก่ เด็กที่มีไข้ หรือเด็กที่มีผื่น หรือมีแผลในปาก ไม่ให้เข้าเรียน ทั้งนี้เพราะมีผู้ป่วยบางคนที่มีอาการน้อยมาก หรือมีบางคนที่มีอาการไข้แต่ไม่มีผื่น ควรต้องจัดหาเครื่องมือวัดอุณหภูมิ (ปรอท) ไว้ให้พร้อมเพื่อใช้ในกรณีที่สงสัยว่าเด็กจะมีไข้ และมีครูหรือพยาบาลตรวจรับเด็กก่อนเข้าเรียนทุกวัน
2. ควรมีมาตรการในการทำความสะอาดของเล่น และสิ่งแวดล้อมทุกวัน หรือเมื่อมีการเปื้อนน้ำลาย น้ำมูกหรือสิ่งสกปรก
3. มีมาตรการเคร่งครัดในการล้างมือ ให้แก่เจ้าหน้าที่ทุกระดับที่ดูแลสัมผัสเด็กเล็ก โดยเฉพาะในทุกครั้งที่อาจสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระ การใช้แอลกอฮอลล์เจลล้างมือ ไม่สามารถฆ่าเชื้อได้
4. หากมีการระบาดเกิดขึ้นหลายราย ควรพิจารณาปิดชั้นเรียนนั้นเป็นเวลา 1 สัปดาห์ หรือหากมีการระบาดเกิดขึ้นในหลายชั้นเรียน ควรปิดโรงเรียนด้วย เพื่อหยุดการระบาด
You must be logged in to post a comment.