รองเท้าที่เหมาะสมในแต่ละคน

By: | Tags: | Comments: 0 | ตุลาคม 29th, 2018

รองเท้าที่เหมาะสมในแต่ละคน

        นักกีฬา ควรเลือกซื้อรองเท้ากีฬา หลังจากเดินสักพักหรือหลังจากเล่นกีฬาเสร็จ เพราะเท้าจะมีขนาดเดียวกันกับขณะเล่นกีฬา ควรเลือกรองเท้าที่มีพื้นนิ่ม และมีความยืดหยุ่นเพื่อรองรับแรงกระแทกได้ดี หากกีฬาที่เล่นใช้ปลายเท้าเป็นส่วนมาก เช่น ฟุตบอล การวิ่ง ควรเลือกรองเท้าที่น้ำหนักเบา กระชับ และออกแบบให้รองรับแรงกระแทกส่วนหน้าโดยเฉพาะ  มีโครงช่วยประคองข้อเท้าด้านหลัง ( heel counter ) แต่ถ้าเป็นกีฬาที่ต้องใช้การบิดหรือหมุนของข้อเท้ามาก เช่น บาสเกตบอล ควรเลือกรองเท้าที่หุ้มมาถึงข้อเท้า ไม่ใช่หุ้มแค่ระดับตาตุ่มเท่านั้น

        สำหรับการปิดรองเท้าจะมี 2 แบบ คือผูกเชือก กับ ใช้แถบ Velcro (บางคนเรียกตีนตุ๊กแก หรือแถบหนามเตย) หากต้องการความกระชับมากมาก อย่างนักกีฬาอาชีพ ควรเลือกแบบผูกเชือก แต่ถ้าไม่และรู้สึกยุ่งยากในการผูกเชือกรองเท้า แนะนำให้เลือกแบบ Velcro ซึ่งกระชับน้อยกว่าแต่สะดวกกว่า

        คนเท้าแบน มีทั้งแบบถาวรและชั่วคราว ฝ่าเท้าแบนทำให้ปวดบริเวณกลางฝ่าเท้า เนื่องจากเอ็นซึ่งทำหน้าที่ยกอุ้งเท้าถูกดึงยึด ดังนั้นหากคุณเป็นคนฝ่าเท้าแบนชั่วคราว(คือเท้าแบนเมื่อเหยียบพื้นเท่านั้น)ควรสวมรองเท้าที่เสริมอุ้งเท้า(บริเวณพื้นรองเท้าด้านในช่วงกลางที่นูนขึ้น)เพื่อช่วยเส้นเอ็นพยุงอุ้งเท้า มีที่หุ้มด้านข้างและหลังเท้า เพื่อพยุงไม่ให้ส้นเท้าบิดและเท้าล้มเข้าด้านใน แต่หากฝ่าเท้าแบนถาวร ซึ่งมักมีเท้าส่วนกลางกว้างกว่าปกติ ควรเลือกรองเท้าที่ด้านข้างกว้าง และมีพื้นนิ่มใส่สบาย

        คนอุ้งเท้าสูง จะมีปัญหาปวดบริเวณฝ่าเท้าด้านหน้าและส้นเท้า เพราะการรับน้ำหนักของอุ้งเท้าส่วนกลางหายไป รองเท้าจึงควรมีลักษณะเสริมอุ้งเท้าส่วนกลาง(ยกนูนช่วงกลางฝ่าเท้าและเสริมอุ้งเท้า)เพื่อช่วยกระจายน้ำหนักจากฝ่าเท้าด้านหน้าและส้นเท้ามาที่อุ้งเท้า ควรเลือกรองเท้าที่มีพื้นนิ่มและมีความยืดหยุ่น

        คนปวดส้นเท้า การปวดส้นเท้าส่วนใหญ่เกิดจาก จุดยึดพังผืดบริเวณส้นเท้าอักเสบ ซึ่งมักปวดมากในการเดินก้าวแรกหลังตื่นนอน เพราะพังผืดถูกยืดทันทีทันใด รองเท้าที่เหมาะกับปัญหานี้ ควรมีพื้นนิ่ม มีส้นเล็กน้อยเพื่อถ่ายน้ำหนักไปยังเท้าส่วนหน้า การใส่รองเท้าที่มีการเสริมอุ้งเท้า และนวดฝ่าเท้าก่อนลุกจากเตียง รวมถึงการบริหารยืดเอ็นร้อยหวายซึ่งทำได้โดย นั่งเหยียดขาข้างที่ต้องการยืดไปด้านหน้า และใช้ผ้าคล้องที่ปลายเท้าเอาไว้ ขาอีกข้างชันเข่าขึ้น และออกแรงดึงปลายผ้าทั้งสองข้างเข้าหาตัวจนรู้สึกว่าน่องตึง ค้างไว้ 10 วินาที นับเป็น 1 ครั้ง ทำวันละ 10-15 ครั้ง จะช่วยลดการปวดเท้าและลดการเกิดอาการช้ำได้

        คนปวดฝ่าเท้าด้านหน้า ปัญหานี้พบบ่อยในผู้ที่ใส่รองเท้าส้นสูงเป็นประจำ และผู้ที่มีภาวะหัวแม่เท้าเก ซึ่งหัวแม่เท้าไม่สามารถรับน้ำหนักได้ ภาระจึงตกอยู่กับฝ่าเท้าบริเวณนิ้วชี้ถึงนิ้วก้อย เมื่อรับน้ำหนักนาน ๆ จึงทำให้ปวด ดังนั้นผู้ที่มีอาการนี้จึงควรใส่รองเท้าส้นเตี้ย มีพื้นนิ่ม และมีหน้ารองเท้ากว้าง เพื่อลดการบีบและเสียดสีของเท้า

        คนเป็นเบาหวาน ผู้ป่วยเบาหวานมักมีปลายประสาททำงานผิดปกติ ทำให้เท้าชา มีนิ้วเท้าหงิกงอ ทำให้ฝ่าเท้าด้านหน้ารับน้ำหนักมากและนิ้วเท้าเสียดสีกับหัวรองเท้า จึงควรเลือกใส่รองเท้าพื้นนิ่ม มีหัวลึกและกว้าง ห้ามใช้รองเท้าคีบ เพราะอาจทำให้เกิดแผลบริเวณร่องนิ้วเท้าได้โดยไม่รู้ตัว