ไวรัสตับอักเสบบี ( Viral Hepatitis ) รู้เท่าทัน ป้องกันได้

By: | Tags: | Comments: 0 | กรกฎาคม 1st, 2014

โรคไวรัสตับอักเสบบีคืออะไร
         โรคไวรัสตับอักเสบ บี คือ โรคติดเชื้อที่ตับที่เกิดจากไวรัสตับอักเสบชนิดบี  โดยเชื้อไวรัสจะบุกรุกเข้าไปสู่เซลล์ตับและก่อให้เกิดการอักเสบขึ้น ในบางกรณีเชื้อไวรัสอาจอยู่นิ่งเป็นปีๆ โดยที่ผู้มีเชื้อไม่ทราบเลยว่าตนเองมีเชื้ออยู่ในร่างกาย  เชื้อไวรัสดังกล่าวสามารถแบ่งตัวได้อย่างรวดเร็วในเซลล์ตับซึ่งส่งผลให้มีปฏิกิริยาตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายก่อให้เกิดการอักเสบและทำลายเซลล์ขึ้น

โรคไวรัสตับอักเสบ บี เป็นโรคที่พบได้ทั่วไปหรือไม่?
         จากสถิติพบว่า ทั่วโลกมีผู้เป็นพาหะโรคไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังกว่า 350 ล้านคน และมีผู้ได้รับเชื้อชนิดนี้กว่า 2,000 ล้านคน ส่วนในประเทศไทย พบว่ามีผู้เป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบีกว่า 3.5 ล้านคน ซึ่งมีสถิติพบว่า ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งตับหรือตับวายอันเนื่องจากโรคไวรัสตับอักเสบบี 1 ล้านคนต่อปี จึงนับว่าโรคนี้เป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพชาวโลกที่รุนแรงกว่าโรคเอดส์เสียอีก

 

สาเหตุการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
         1. จากมารดาสู่ทารก ซึ่งเป็นสาเหตุการติดเชื้อที่สำคัญ และพบบ่อยในคนไทย มารดาที่มีไวรัสบีที่ยังมีการแบ่งตัวขณะตั้งครรภ์ จะมีโอกาสติดเชื้อไวรัสบีไปยังทารกแรกเกิดได้สูงถึงมากกว่าร้อยละ 90 โดยมากกว่าร้อยละ 90 ของทารกจะไม่มีอาการอะไร แต่ก็ไม่หายจากโรค และจะกลายเป็นติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง
         2. การใช้เข็มหรืออุปกรณ์ที่ปนเปื้อนเลือดของผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยที่ฉีดยาเสพติดเข้าเส้น ใช้เข็มสักผิวหนังที่ไม่สะอาด รวมถึงการใช้อุปกรณ์บางชนิดร่วมกับผู้ป่วย เช่น ใบมีดโกน กรรไกรตัดเล็บ แปรงสีฟัน
         3. ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เนื่องจากไวรัสบีสามารถปนมากับสารคัดหลั่งในช่องคลอด หรือน้ำอสุจิ เราจึงสามารถติดเชื้อได้จากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบี
         4. การรับเลือดหรือส่วนประกอบของเลือดที่มีไวรัสบี แต่เนื่องจากปัจจุบันมีการตรวจคัดกรองเลือดก่อนนำมาใช้ ทำให้โอกาสติดเชื้อไวรัสบีจากการรับเลือดหรือส่วนประกอบของโรคเลือดพบได้น้อยลงอย่างชัดเจน

 

อาการ
         อาการของโรคนี้ แบ่งได้เป็น 3 ลักษณะ คือ
         1. ไม่มีอาการ จนผู้ที่ได้รับเชื้อเข้าไปแทบจะไม่ทราบว่าตัวเองเป็นโรคนี้ ผู้ป่วยกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มาทราบทีหลัง โดยการเจาะเลือด หรือไปบริจาคโลหิตจึงทำให้ทราบว่าเป็นโรคนี้ ซึ่งกลุ่มนี้อาจจะเป็นกลุ่มที่เป็นพาหะ หรือกำลังเป็นกลุ่มที่เป็นไวรัสบีแบบเรื้อรัง
         2. ผู้ป่วยที่เป็นไวรัสตับอักเสบบีฉับพลัน  จะมีอาการชัดเจน ได้แก่ มีไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหารนำมาก่อน ต่อมามีอาการตาเหลือง ตัวเหลือง ปัสสาวะเหลืองเข้ม เมื่อมีอาการตาเหลืองตัวเหลืองเกิดขึ้นแล้ว อาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหารและไข้ก็มักจะดีขึ้นหรือหายไป ผู้ป่วยจะมีระยะเวลาที่ตาเหลืองตัวเหลืองไม่เท่ากัน บางคนอาจเป็นเพียงไม่กี่อาทิตย์ แต่บางคนอาจนาน 2-3 เดือน
         3. ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง ที่มีการดำเนินของโรคจนมีตับแข็ง จะมีอาการรุนแรงมาก จนมีอาการซึม ตาเหลือง ตัวเหลือง ไม่รู้สึกตัว ตับมีขนาดเล็กลงเมื่อตรวจร่างกายอาจพบลักษณะของโรคตับอักเสบเรื้อรังหรือตับแข็ง เช่น มีเส้นเลือดฝอยขยายที่หน้าอก (spider nevi) เต้านมโตขึ้น (gynecomastia) เป็นต้น และเมื่อโรคดำเนินต่อไปจนเกิดภาวะตับวายเรื้อรังก็อาจพบอาการตัวเหลือง ท้องโตขึ้นจากการมีน้ำในช่องท้องที่เรียกว่าท้องมาร รวมถึงตับของผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังอาจมีอาการอักเสบขึ้นมารุนแรง ผู้ป่วยเหล่านี้จะมีโอกาสสูงที่จะเกิดภาวะตับวายและเสียชีวิตในที่สุด
         ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเข้าไปครั้งแรก จะมีอาการน้อยจนถึงมีอาการรุนแรงดังที่ได้กล่าวไปแล้ว แต่ผู้ป่วยเหล่านี้ประมาณ 10%  ที่จะเป็นตับอักเสบเรื้อรังหรือพาหะของโรค ส่วนใหญ่ประมาณ 90% จะหายเป็นปกติ

 

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเป็นโรคไวรัสตับบีเรื้อรัง หรือพาหะของโรคนี้ หรือไม่
         ถ้าเราไม่เคยมีอาการใด ๆ มาก่อน เราอาจจะไปพบแพทย์ เพื่อขอเจาะเลือดตรวจ ซึ่งแพทย์จะตรวจการทำงานของตับ และตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบีด้วย ถ้าผู้ป่วยมีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและมีภาวะการทำงานของตับผิดปกติด้วย น่าจะเป็นตับอักเสบเรื้อรัง แต่ถ้าจะให้แน่ใจแพทย์จะนัดผู้ป่วยมาเจาะเลือดอีก 6 เดือน ถ้ายังพบเชื้อและยังมีภาวะตับอักเสบอยู่ ก็แสดงว่าผู้ป่วยเป็นโรคตับเรื้อรังจากไวรัสชนิดบี แต่ถ้าเจาะเลือดแล้วมีเชื้อไวรัสตับอักเสบบี แต่ไม่พบภาวะการทำงานที่ผิดปกติของตับบก็น่าเป็นพาหะของโรคนี้ ถ้าอีก 6 เดือนต่อมา เจาะเลือดแล้วยังพบเชื้อเหมือนเดิม แต่ไม่พบภาวะตับอักเสบ ก็แสดงว่าผู้ป่วยเป็นพาหนะของไวรัสตับอักเสบชนิดบี
การดำเนินของโรค
         ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังที่ไม่ได้รับการรักษาจะมีอาการอักเสบของตับเรื้อรัง มีการทำลายตับและเกิดพังผืดมากขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นตับแข็ง ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วจะมีโอกาสเกิดตับแข็งประมาณร้อยละ 2-5 ต่อปี ถ้ายังมีตับอักเสบต่อเนื่อง ผู้ป่วยก็จะมีโอกาสเกิดตับวายเรื้อรัง (decompensated cirrhosis) ร้อยละ 4-6 ต่อปี ที่สำคัญคือมีโอกาสเกิดมะเร็งร้อยละ 2-5 ต่อปี ซึ่งในผู้ป่วยบางรายอาจเกิดมะเร็งตับโดยที่ไม่จำเป็นต้องมีตับแข็ง อย่างไรก็ตามผู้ป่วยบางรายอาจจะสามารถควบคุมการแบ่งตัวของไวรัสได้เอง ทำให้การดำเนินโรคไปเป็นตับแข็งหรือมะเร็งตับลดลง สำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสบีเรื้อรังตั้งแต่วัยทารกจะเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคตับประมาณร้อยละ 25-40

 

เราจะมีวิธีป้องกันโรคนี้ได้อย่างไร
         1. การฉีดวัคซีนเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกัน   การเลือกฉีดวัคซีน จะแบ่งเป็น 2 ลักษณะคือ
         – ในเด็ก การฝากครรภ์จะทำให้ทราบว่ามารดามีเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบีหรือไม่ ถ้าเป็นโรคนี้ควรให้วัคซีนแก่ทารก ตั้งแต่แรกคลอดให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้ติดเชื้อตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งถ้าเด็กได้รับเชื้อตั้งแต่แรกเกิดแล้ว จะมีโอกาสเป็นตับแข็ง หรือเนื้องอกของตับตั้งแต่อายุยังน้อย ส่วนในเด็กที่คลอดจากมารดาที่ปกติ ในปัจจุบันก็ควรได้รับการฉีดวัคซีนตั้งแต่เด็กด้วยเช่นกัน เพื่อป้องกันการติดเชื้อเมื่อเด็กโตขึ้น
         – ในผู้ใหญ่ ขึ้นอยู่กับคน ๆ นั้น จะเสี่ยงต่อการติดโรคได้มากน้อยเพียงใด ถ้าเสี่ยงต่อการติดโรคนี้ ก็ควรได้รับการฉีดวัคซีน แต่ก่อนฉีดวัคซีนควรได้รับการเจาะเลือดตรวจก่อนว่ามีภูมิต้านทานโรคนี้หรือยัง เพราะว่ามีคนจำนวนหนึ่ง ซึ่งเมื่อเจาะเลือดดูจะพบว่ามีภูมิต้านทานอยู่แล้ว หรืออาจมีเชื้ออยู่ในร่างกายแล้ว ซึ่งก็ไม่จำเป็นต้องฉีด ในคนสูงอายุอาจไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีน ก่อนฉีดวัคซีนควรไปพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำ
         2. การหลีกเลี่ยงสาเหตุดังที่กล่าวข้างต้น  ได้แก่
         – หลีกเลี่ยงการใช้ของใช้ร่วมกับคนอื่น โดยเฉพาะคนไข้ หรือคนที่เป็นพาหะ
         – หลีกเลี่ยงการสัมผัสเลือด น้ำเลือด น้ำลาย ของคนไข้ หรือคนที่เป็นพาหะ
         – ตรวจสอบความสะอาดของอุปกรณ์ เช่น เข็มฉีดยา เข็มสำหรับเจาะหู การฝังเข็ม ว่าเป็นของใหม่ หรือผ่านการฆ่าเชื้อโรคมาแล้วเป็นอย่างดี
         – รักษาสุขอนามัยให้สะอาดอยู่เสมอ รวมทั้งการเลือกรับประทานอาหาร และน้ำด้วย
         – ใช้ช้อนกลาง ในการรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น
         – ไม่ส่ำส่อนทางเพศ และใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์