ปัญหากลุ่มอาการนอนกรน และ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
นอนกรนเป็นอาการที่พบบ่อยมากและเกิดขึ้นได้ทุกเพศ ทุกวัย ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ แท้จริงแล้ว เสียงกรนเป็นอาการที่บ่งบอกว่า กำลังมีการตีบแคบของทางเดินหายใจส่วนต้น ซึ่งอาจเป็นตั้งแต่ จมูก ช่องลำคอโคนลิ้น หรือ บางส่วนของกล่องเสียง ซึ่งเกิดการหย่อนตัวลงเกิดขึ้นในขณะนอนหลับจนทำให้เมื่อลมหายใจ ผ่านเนื้อเยื่อดังกล่าว เกิดการสั่นสะเทือนและมีเสียงดังขึ้น อาการตีบแคบของทางเดินหายใจส่วนต้นนี้อาจเป็นเพียงบางส่วนหรือบางครั้งรุนแรงจนอุดกั้นลมหายใจทั้งหมด ทำให้ไม่สามารถหายใจเข้าออกได้เป็นระยะๆ ซึ่งเราเรียกลักษณะดังกล่าวว่า ภาวะหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้น (Obstructive Sleep Apnea,OSA) หรือที่นิยมเรียกง่าย ๆ ในปัจจุบันว่า ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือ Sleep apnea เริ่มจากการตีบแคบของทางเดินหายใจส่วนบนทำให้เราต้องหายใจเข้ามากขึ้นเพื่อเอาชนะทางเดินหายใจที่ตีบแคบบางครั้งอาจตีบลงจนอุดกั้นทางเดินหายใจของเราอย่างสมบูรณ์ ในจังหวะนี้จะพบว่าไม่มีอากาศสามารถไหลผ่านเข้าสู่ปอดได้เลยถ้ามีการหยุดหายใจหลายๆครั้งในขณะนอนหลับจะส่งผลให้ระดับความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด (Oxygensaturation, SpO2) ลดน้อยลงซึ่งสมองก็จะได้รับออกซิเจนน้อยลงไปด้วยเมื่อสมองขาดออกซิเจนก็จะต้องคอยปลุกให้ผู้ป่วยตื่นเพื่อเริ่มหายใจใหม่และเมื่อสมองได้รับออกซิเจนเพียงพอแล้ว ผู้ป่วยจึงจะสามารถหลับลึกได้อีกครั้งแต่ต่อมาการหายใจก็จะเริ่มขัดขึ้นอีก สมองก็ต้องปลุกตัวเองให้ตื่นขึ้นใหม่วนเวียนเช่นนี้ตลอดคืน เป็นผลให้ผู้ป่วยนอนหลับได้ไม่เต็มอิ่มตื่นมาอาจมีอาการง่วงมาก ปวดศรีษะ รู้สึกเหมือนไม่ได้นอนทั้งๆที่นอนหลับเป็นเวลาหลายชั่วโมงแล้ว
ใครบ้างที่มีโอกาสเป็น
พบอุบัติการณ์การเกิดภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ประมาณ 25% ในผู้ชายและ 10 % ในผู้หญิงโดยสามารถพบผู้ป่วยได้ในทุกกลุ่มอายุ และอุบัติการณ์จะเพิ่มขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี
นอกจากนี้พบได้บ่อยในผู้ที่สูบบุหรี่หรือ ดื่มสุราเป็นประจำ ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากกว่าปกติหรือมีลักษณะทางกายวิภาคที่ทำให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจง่ายกว่าปกติ เช่น คอใหญ่คางเล็ก กล้ามเนื้อของเพดานอ่อนหย่อน ต่อมทอนซิลมีขนาดใหญ่หรือขากรรไกรมีขนาดเล็กกว่าปกติ
อาการที่ทำให้สงสัยว่าอาจจะมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
– นอนกรนดังมากเป็นประจำจนเกิดความรำคาญต่อผู้ที่นอนร่วมด้วย
– ตื่นนอนตอนเช้าด้วยความอ่อนล้าไม่สดชื่นรู้สึกว่านอนหลับไม่เต็มอิ่ม มีความรู้สึกเหมือนว่าไม่ได้หลับนอนมาทั้งคืน ทั้งๆ ที่ได้นอนพักผ่อนอย่างเต็มที่แล้ว
– หงุดหงิด อารมณ์เสียง่าย คอแห้ง ปวดศีรษะตอนเช้าหลังตื่นนอน
– มีอาการง่วงนอนในเวลาทำงานกลางวันจนไม่สามารถจะทำงานต่อได้ หรือมีอาการเผลอหลับบ่อยๆ
– นอนหลับไม่ราบรื่นฝันร้ายหรือละเมอขณะหลับ นอนกระสับกระส่ายมาก
– คู่นอนหรือคนในครอบครัวสังเกตว่ามีอาการหายใจขัดหรือหยุดหายใจเป็นพักๆหายใจขณะนอนหลับ
– การหยุดหายใจในแต่ละครั้งอาจมีช่วงระยะเวลาตั้งแต่ 2-3 วินาที จนถึงหลายๆ นาทีและอาจจะเกิดขึ้น 5 ถึง 30 ครั้งหรือมากกว่าในแต่ละชั่วโมง
– ในเด็กอาจมีท่านอนที่ผิดปกติ เช่น ชอบนอนตะแคง หรือ นอนคว่ำ คัดจมูกเป็นประจำต้องนอนอ้าปากหายใจบ่อยๆ หรืออาจไม่มีสมาธิทำอย่างใดอย่างหนึ่งได้นาน
หงุดหงิดง่าย หรือมีกิจกรรมต่างๆ ทำตลอดเวลาหรือมีปัสสาวะราดในเวลากลางคืน
– มีความดันโลหิตสูงซึ่งยังหาสาเหตุได้ไม่ชัดเจน
– ประสิทธิภาพในการทำงานหรือผลการเรียนแย่ลง เพราะอาการง่วง, ขาดสมาธิ,พัฒนาการทางสมองและสติปัญญาและความจำแย่ลง
– สมรรถภาพทางเพศลดลง
หากไม่รักษาจะเกิดผลเสียอย่างไร
1.ภาวะง่วงนอนผิดปกติ เช่นขณะทำงานหรือหลับในขณะขับรถทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุขณะทำงานที่ต้องใช้สมาธิหรืออุบัติเหตุบนท้องถนนได้
2.เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจขาดเลือดฉับพลันโรคหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมองอุดตัน โรคซึมเศร้า และโรคอื่นๆ ตามมาได้
มีวิธีการรักษาหรือไม่? อย่างไรบ้าง
– การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การควบคุมน้ำหนัก การเปลี่ยนท่านอนการหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอลล์
– การใช้อุปกรณ์ที่ช่วยให้ทางเดินหายใจกว้างขึ้นไป เช่น อุปกรณ์ mouthpieceช่วยปรับให้กรามล่างและลิ้นอยู่ในลักษณะที่ไม่ปิดกั้นทางเดินหายใจขณะนอนหลับ หรือ เครื่อง CPAP ( continuous positive airway pressure) ลักษณะเป็นหน้ากากที่จะให้ลมที่ความดันเป็นบวกออกมาทำให้ทางเดินหายใจไม่เกิดการอุดกั้น
– การผ่าตัด
การนอนกรนอาจจะสร้างความรำคาญ และทำให้เป็นที่รังเกียจของผู้ที่นอนด้วยแต่หากเมื่อมี “ภาวะการหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea ) “ ร่วมด้วย ก็จะส่งผลต่อสุขภาพของเราเอง ดังนั้นหากคุณเป็นคนหนึ่งที่นอนกรน คงต้องใส่ใจสังเกตตนเองมากขึ้นว่ามีอาการดังที่ได้กล่าวข้างต้นหรือไม่ ซึ่งหากพบความผิดปกติดังกล่าวก็ควรรีบไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหู คอ จมูก เพื่อรับคำแนะนำและการรักษาที่ถูกต้องต่อไป
ข้อมูลอ้างอิง 1. “อาการนอนกรน (Snoring) และ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea) โดย รศ.นพ.ปารยะ
อาศนะเสน ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล http://www.si.mahidol.ac.th
- “ Sleep Apnea : ง่วง นอนกรน นอนไม่อิ่ม “ โดย ภญ. กิตติมา วัฒนากมลกุล ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหิดล http://www.pharmacy.mahidol.ac.th
You must be logged in to post a comment.