ทำไมต้องตรวจน้ำตาลปลายนิ้วที่บ้าน

By: | Tags: | Comments: 0 | April 27th, 2017

ทำไมต้องตรวจน้ำตาลปลายนิ้วที่บ้าน
        การรักษาโรคเบาหวานมีจุดประสงค์เพื่อ ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น  ดังนั้น การที่ผู้ที่เป็นเบาหวานสามารถตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง จะทำให้ผู้ป่วยสามารถติดตามการรักษาโดยทราบระดับน้ำตาลของตนเองได้ทันที และจะสามารถทำให้เกิดการตระหนักรู้ให้พยายามควบคุมระดับน้ำตาลของตนเองให้ เป็นปกติ เป็นการชะลอการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ก่อให้เกิดอันตรายกับชีวิตได้
        มีข้อมูลชัดเจนที่แสดงถึงประโยชน์ของการตรวจระดับน้ำตาลใน เลือดด้วยตนเองเพื่อช่วยควบคุมเบาหวานให้ดีขึ้นในผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 ที่รักษาด้วยยาฉีดอินซูลิน และสำหรับผู้เป็นเบาหวานที่ไม่ได้ฉีดอินซูลิน  ดังต่อไปนี้
        1. ช่วยเสริมข้อมูลของค่าน้ำตาลสะสมเฉลี่ย หรือฮีโมโกลบินเอวันซี (HbA1c) ในการประเมินการควบคุมโรคเบาหวาน
        2. ระดับน้ำตาลในเลือดที่ได้จากการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วย ตนเองในช่วงเวลาขณะนั้น จะช่วยสะท้อนผลของพฤติกรรมการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย และยาที่ใช้รักษา ซึ่งล้วนแต่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำตาลในเลือด
        3. สามารถตรวจค้นหา หรือประเมินแนวโน้มที่จะเกิดภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ และภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเกินเกณฑ์ เป้าหมาย ทำให้เพิ่มความปลอดภัย เพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ป่วย และเป็นแรงจูงใจในการดูแลตนเองให้ดียิ่งขึ้น
        4. ผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งไม่ได้รักษาด้วยยาฉีดอินซูลินจะได้รับประโยชน์ในกรณีดังต่อไปนี้
             4.1 อยู่ระหว่างช่วงที่มีการปรับขนาดยาที่ได้รับ หรือในช่วงที่มีการปรับโภชนบำบัด หรือเพิ่มการออกกำลังกาย
             4.2 เมื่อสงสัยหรือมีอาการของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
             4.3 ช่วงที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง เช่น มีการติดเชื้อ การเจ็บป่วย และภาวะเครียด เป็นต้น
             4.4 มีการเปลี่ยนแปลงกิจกรรมหรือภารกิจ เช่น ไปโรงเรียน เริ่มงานใหม่ หรือเปลี่ยนช่วงเวลาการทำงาน เป็นต้น
             4.5 ผู้เป็นเบาหวานที่อาศัยอยู่ตามลำพัง
ควรตรวจน้ำตาลปลายนิ้วบ่อยแค่ไหน
        ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและชนิดของโรคเบาหวาน รวมถึงความจำเป็นของผู้เป็นเบาหวานแต่ละราย มีข้อแนะนำในการตรวจ ดังต่อไปนี้
        1. ผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ที่ได้รับการรักษาด้วยอินซูลินปั๊มป์ (Insulin Pump) ควรตรวจระดับน้ำตาล วันละ 4-6 ครั้ง
        2. ผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ฉีดอินซูลินก่อนนอน ควรตรวจระดับน้ำตาลก่อนอาหารเช้าทุกวันหรืออย่างน้อย 2 วันต่อ  สัปดาห์ในช่วงที่มีการปรับขนาดอินซูลิน หลังจากนั้นควรตรวจเลือดก่อนและหลังอาหารในมื้ออื่นๆ สลับกัน เพื่อดูแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตาลในเลือด ถ้ายังไม่ได้ค่า ฮีโมโกลบินเอวันซี (HbA1c) ตามเป้าหมาย
        3. ผู้เป็นเบาหวานที่ฉีดอินซูลินวันละ 2 ครั้ง ควรตรวจระดับน้ำตาล อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง โดยตรวจก่อนอาหารเช้าและเย็น อาจมีการตรวจก่อนอาหารและหลังอาหารมื้ออื่นๆ เพื่อดูแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตาลในเลือด และใช้เป็นข้อมูลในการปรับยา
        4. ผู้เป็นเบาหวานที่ฉีดอินซูลินตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป ควรตรวจระดับน้ำตาล ก่อนอาหาร 3 มื้อทุกวัน ตรวจก่อนนอน และหลัง
อาหาร 2 ชั่วโมง เป็นครั้งคราว หากสงสัยว่ามีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำกลางดึกหรือมีความเสี่ยงที่จะเกิด ควรตรวจระดับ
น้ำตาลช่วงเวลา 02.00 – 04.00 น.
        5. ผู้เป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ ควรตรวจระดับน้ำตาลก่อนอาหารและหลังอาหาร 1-2 ชั่วโมง ทั้ง 3 มื้อและก่อนนอน และสามารถลดจำนวนครั้งการเจาะลงเมื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น
        6. ในภาวะเจ็บป่วยควรตรวจเลือดหาระดับน้ำตาลที่ปลายนิ้ว อย่างน้อยวันละ 4 ครั้ง ทุก 4-6 ชั่วโมง หรือก่อนมื้ออาหาร เพื่อค้นหาแนวโน้มที่จะเกิดภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำหรือ ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินควร
        7. ควรตรวจเลือดที่ปลายนิ้วก่อนและหลังการออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยง เช่น การขับรถ โดยเฉพาะผู้เป็น เบาหวานที่ได้รับยาซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
        8. ควรตรวจเลือดที่ปลายนิ้ว เมื่อสงสัยว่ามีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ และหลังจากการให้การรักษาจนกว่าระดับน้ำตาลใน เลือดจะกลับมาปกติ หรือใกล้เคียงปกติ
        9. ผู้เป็นเบาหวานชนิดที่สองและใช้ยารับประทาน ควรเจาะเลือดตรวจวันละครั้ง หรืออย่างน้อย 3-4 ครั้ง/สัปดาห์ และควรมีการเจาะเลือดตรวจก่อนอาหาร และหลังอาหาร 1-2 ชั่วโมงร่วมด้วย เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลทั้งก่อนและหลังอาหาร หากผลการตรวจค่าน้ำตาลหลังอาหารมีค่าสูงกว่าค่าน้ำตาลก่อนอาหารอยู่มากกว่า 50 mg/dl แสดงว่าอาหารมื้อดังกล่าวมีคาร์โบไฮเดรตสูงเกินไป
        การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง (Self-Monitoring of Blood Glucose, SMBG) จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มศักยภาพและเสริมพลังให้ผู้เป็นเบาหวานมี ความสามารถในการดูแลตนเองร่วมกับการให้ความรู้ด้านอื่นๆ การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองทำได้ทุกเวลา โดยการเจาะเลือดที่ปลายนิ้วซึ่งเป็นหลอดเลือดแดงฝอย หยดเลือดลงบนแถบทดสอบและอ่านค่าด้วยเครื่องวัดระดับน้ำตาล (Glucose Meter) ซึ่งสามารถสะท้อนระดับน้ำตาลในเลือดที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลาในแต่ละ วัน ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของอาหารที่รับประทาน การออกกำลังกาย และยาที่ผู้เป็นเบาหวานได้รับ
        ที่สำคัญ การเจาะเลือดตรวจน้ำตาลที่ปลายนิ้วนั้น เพื่อให้ผู้ป่วยได้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ปรับอาหาร ปรับยาฉีดอินซูลิน ปรับเวลาออกกำลังกาย ป้องกันการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ดังนั้น การหลอกตนเองโดยเลือกเจาะเลือดตรวจเฉพาะเวลาที่คิดว่าค่าน้ำตาลจะออกมาดูดี เช่น หลังอาหารมื้อที่รับประทานน้อยนั้น อาจจะไม่ช่วยในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถบรรลุเป้าหมายของการควบคุมระดับน้ำตาลที่ดีได้

You must be logged in to post a comment.