ยาลดความดันโลหิตสูง ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย

By: | Tags: | Comments: 0 | February 3rd, 2014

 

ความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่พบได้บ่อยมากขึ้นในสภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน เป็น “ภัยเงียบ” ที่อาจคุกคามสุขภาพของเราได้โดยไม่รู้ตัว และเป็นโรคที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องเพื่อควบคุมอาการและผลแทรกซ้อนอื่นๆไม่ให้ตามมา เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจวาย โรคไต หรือหลอดเลือดในสมองแตก เป็นต้น ซึ่งการรักษาโรคความดันโลหิตสูงนั้นมีทั้งการรักษาโดยใช้ยาและไม่ใช้ยาประกอบกัน  การพิจารณาว่าจะใช้ยาลดความดันโลหิตเมื่อใด แพทย์จะพิจารณาความดันโลหิตที่วัดได้โดยดูทั้งค่าความดันตัวบน (systolic blood pressure, SBP) และค่าความดันตัวล่าง (diastolic blood pressure, DBP) ทั้งนี้ต้องพิจารณาค่าความดันโลหิตร่วมกับระดับความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เนื่องจากมีความสัมพันธ์กัน โดยหากมีค่าความดันโลหิตสูงกว่าปกติไม่มาก และพิจารณาแล้วว่าไม่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด แพทย์มักจะแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพียงอย่างเดียวก่อน เช่น ลดการรับประทานอาหารเค็ม ไม่เครียด เป็นต้น ซึ่งยาลดความดันโลหิตสูงนั้นแพทย์มักจะให้ต่อเมื่อมีค่าความดันโลหิตสูงกว่าปกติมากหรือมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น เป็นเบาหวาน หรือมีระดับไขมันในเลือดผิดปกติร่วมด้วย

            ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง มีหลายกลุ่ม ออกฤทธิ์ต่างๆ กันไป เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาชะลอการเต้นของหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นช้าลง ยาขยายหลอดเลือดทำให้รูของหลอดเลือดกว้างขึ้น เลือดจึงไหลได้ดีขึ้นและมีแรงดันน้อยลง จากยากลุ่มต่างๆ นี้ แพทย์จะเลือกยาที่เหมาะสมให้แก่ผู้ป่วยแต่ละราย มีข้อที่ควรทราบ คือ ยาขับปัสสาวะ ทำให้ผู้ที่รับประทานยานั้นเข้าห้องน้ำบ่อยกว่าปกติเพราะยาขับปัสสาวะมีฤทธิ์ขับน้ำออกจากหลอดเลือด ทำให้ปริมาตรเลือดในหลอดเลือดลดลง ความดันโลหิตจึงลดลง ขนาดยาโดยทั่วไปคือรับประทานยาวันละ 1 ครั้ง หลังอาหารเช้า แต่ผู้ป่วยบางรายก็จำเป็นต้องรับประทานยาวันละ 2 ครั้ง ในกรณีหลังนี้ให้รับประทานยาหลังอาหารเช้าและเที่ยง ห้ามรับประทานยาหลังอาหารเย็นหรือก่อนนอน เพราะจะทำให้ปวดปัสสาวะตอนกลางคืน และต้องลุกมาเข้าห้องน้ำตลอดคืน

 

            ยาลดความดันโลหิตอีกกลุ่มหนึ่งที่ใช้กันบ่อย คือ ยาACE inhibitors ยานี้มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์แองจิโอเทนซินคอนเวอร์ติ้ง (angiotensin converting enzymes) เช่น enalapril, lisinopril , ramipril , perindopril อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงที่ก่อความรำคาญแก่ผู้ใช้ยา คืออาการไอแห้งๆ ได้ ซึ่งไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด และไม่ใช่อาการแพ้ยา อาการนี้อาจทำให้รู้สึกรำคาญ ซึ่งสามารถบรรเทาได้ด้วยการหมั่นจิบน้ำ หรือรับประทานยาอมชนิดที่ทำให้ชุ่มคอ ร่างกายจะสามารถปรับตัวได้ แต่ในกรณีที่อาการเป็นมากจนรบกวนคุณภาพชีวิต อาจจำเป็นต้องเปลี่ยนยา แต่ผู้ป่วยไม่ควรหยุดยาด้วยตนเอง ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อให้แพทย์พิจารณาเปลี่ยนยาให้

 

            โดยทั่วไปแพทย์จะให้ยาลดความดันโลหิตเพียงขนานเดียวก่อน หากยังไม่สามารถลดความดันโลหิตได้จึงจะให้ยาหลายขนานร่วมกัน แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่ายาใดเหมาะสม โดยมักจะเลือกให้ยาที่มีผลในการลดความดันโลหิตตลอด 24 ชั่วโมง ให้รับประทานเพียงวันละครั้ง เพื่อความสะดวก และสามารถควบคุมความดันโลหิตไม่ให้แกว่งมากในระหว่างวัน

 

            หากคุณเป็นผู้หนึ่งที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูงและได้รับการรักษาด้วยยาลดความดันโลหิต คุณก็อาจมีหลักปฏิบัติในการใช้ยาลดความดันให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษาได้ดังนี้
             1. รับประทานยาให้ตรงเวลาอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องทุกวัน ทั้งนี้เพื่อให้สามารถควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ ไม่สูงเกินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดเวลา
            2. ไม่ควรหยุดยา ปรับเพิ่มหรือลดยาด้วยตนเอง  ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่เมื่อกินยาติดต่อกันมานานแล้วไม่มีอาการอะไร  ก็อาจคิดไปว่าอาการดีขึ้นแล้ว คงไม่มีอันตรายใดๆ ถ้าหยุดยา หรือเข้าใจเองว่าได้หายจากโรคนี้แล้วก็หยุดยา ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด  เพราะในความเป็นจริงแล้วโรคนี้เป็นโรคเรื้อรัง ไม่หายขาด จะต้องใช้ยาอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ การรับประทานยาความดันโลหิต แล้วความดันโลหิตลดลงมา แสดงว่ายาสามารถควบคุมความดันได้ดี การหยุดรับประทานยาอาจจะมีผลให้ความดันโลหิตกลับมาสูงอีก และอาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายอื่นๆตามมา ผู้ใช้ยาจึงไม่ควรหยุดยาเองโดยพลการ นอกจากนี้บางคนอาจได้รับคำแนะนำจากเพื่อนที่เคยเป็นโรคนี้ ว่ามียาดีในการรักษาโรคความดันโลหิตสูงก็ไม่ควรเพิ่มยาหรือเปลี่ยนยาโดยพลการ ต้องนำไปปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง เพราะถ้าได้ยาเพิ่มขึ้นอาจทำให้ระดับความดันโลหิตลดต่ำลงจนเกิดอันตรายได้  และในทางตรงกันข้าม ถ้าจะลดยาด้วยตนเอง ก็อาจส่งผลให้การควบคุมความดันโลหิตได้ไม่เต็มที่ จะเกิดภาวะแทรกซ้อนและเกิดอันตรายได้เช่นกัน
            3. ในกรณีที่ลืมรับประทานยาลดความดัน ก็ให้ปฏิบัติเหมือนยาทั่วไป คือ ถ้าลืมกินยาแล้วยังเหลือเวลาอีกนานกว่าจะถึงเวลาของยามื้อต่อไป ก็ให้ใช้ยานั้นทันที แต่ถ้าลืมยาในกรณีที่ใกล้กับยามื้อต่อไปแล้ว งดมื้อที่ลืมและกินยามื้อต่อไปได้เลย
            4. ถ้าใช้ยาอื่นๆ ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบ มียาหลายชนิดที่อาจส่งผลต่อยาลดความดันโลหิตสูง ดังนั้นหากถ้าจะใช้ยาอื่นๆ เพิ่มเติมควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้จากการใช้ยาร่วมกัน เพื่อจะหลีกเลี่ยงหรือจัดการแก้ไขปัญหาเรื่องยาตีกันนี้ได้
            5. ไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง เพื่อที่แพทย์จะได้ติดตามผลการรักษา รวมทั้งช่วยเฝ้าระวังอาการแทรกซ้อนหรือโรคที่มีความเกี่ยวเนื่องกันได้อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งแพทย์อาจพิจารณาให้คุณรับประทานยาเดิมหรือปรับขนาดยาให้ใหม่ ซึ่งเภสัชกรจะจัดยาให้คุณและแนะนำการใช้ยาที่ถูกต้องให้

 

            นอกจากยาลดความดันโลหิตสูงที่มีมากมายหลายชนิดแล้ว ยังมี “ยาวิเศษ” ที่ยังส่งผลช่วยลดความดันโลหิตสูงได้เป็นอย่างดี ซึ่งหมายถึง การลดปัจจัยเสื่อมต่าง ที่ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของความดันโลหิตสูง เช่น
            – งดสูบบุหรี่ การลดน้ำหนัก ลดการดื่มแอกอฮอล์ ลดการรับประทานเกลือ (ควรได้รับโซเดียมคลอไรด์น้อยกว่า 6 กรัม/วัน)
            – รับประทาน DASH diet (Dietary Approach to Stop Hypertension) คือ เพิ่มอาหารประเภทผัก ผลไม้ และลดไขมันอิ่มตัวและลดปริมาณไขมัน
            – ออกกำลังกายแบบแอโรบิค เช่น การเดินเร็วๆ วันละ 30-45 นาที อย่างสม่ำเสมอ
            – การพักผ่อนให้เพียงพอ หมั่นทำสมาธิ และควรสังเกตอารมณ์เครียด
            – พักระหว่างการทำงาน ยืดหยุ่น และรู้จักจัดการกับความเครียดที่เข้ามาในชีวิตประจำวัน
            หากปฏิบัติตามได้ก็จะส่งผลดีต่อโรคความดันโลหิตสูง อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาจากโรคอื่นๆและยังเพิ่มสุขภาวะให้กับคุณอีกด้วย

 

You must be logged in to post a comment.